กรมศุลกากร จับมือ เคอรี่ เปิดตัวระบบ Auto Matching ผ่าน NSW สำหรับท่าเรือเอกชนแห่งแรกในประเทศไทย

พุธ ๒๐ กันยายน ๒๐๑๗ ๑๕:๑๔
กรมศุลกากร จับมือ เคอรี่ เปิดตัวระบบ Auto Matching ผ่าน NSW สำหรับท่าเรือเอกชนแห่งแรกในประเทศไทย

กรมศุลกากร จับมือ บริษัท เคอรี่ สยามซีพอร์ต จำกัด ร่วมกันเปิดตัว ระบบ Auto Matching ผ่านระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว ( National Single Window : NSW ) เพื่อลดขั้นตอนการส่งมอบตู้สินค้าที่ท่าเรือ จากเดิม 2 นาที เหลือเพียง 10 วินาที สำหรับรองรับตู้สินค้าส่งออกกว่า 100,000 ตู้ต่อเดือน เป็นท่าเรือเอกชนแห่งแรกในประเทศไทย

นายชูชัย อุดมโภชน์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร กล่าวว่า จากนโยบายการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ( National Single Window : NSW ) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการนำเข้า และ ส่งออกสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ ในการตรวจสอบใบอนุญาต และใบรับรองต่างๆ ทางอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนการตรวจปล่อยสินค้า ระบบนี้จะทำหน้าที่ ประสานกิจกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์กับองค์กรที่เกี่ยวข้องได้อัตโนมัติ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องเดินทางไปติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ ด้วยตัวเอง กรมศุลกากร โดย สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง (สทบ.) สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (สทส.) จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท เคอรี่ สยามซีพอร์ต จำกัด ศึกษาพัฒนาระบบการจัดการการขนส่งสินค้าขาออก โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการควบคุมการบรรทุกสินค้าโดยระบบตู้คอนเทนเนอร์ นอกเขตทำเนียบท่าเรือ (Inland Container Depot : ICD) ณ ประตูตรวจสอบสินค้า (Gate) ภายในท่าเรือ และโรงพักสินค้า ของ ท่าเทียบเรือ เคอรี่ สยามซีพอร์ต เพื่อเป็นการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาระบบการควบคุมการส่งออกสินค้า สำหรับท่าเรือที่ไม่ได้ตั้งในเขตท่าเรือแหลมฉบัง ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และแก้ปัญหากระบวนการทำงานเดิมที่มีความล่าช้า และไม่รองรับต่อปริมาณงานที่เพิ่มมากขึ้น

จากการทดสอบระบบ Auto Matching ผ่าน NSW ทั้ง 9 ครั้ง ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560 ผลการทดสอบสามารถตัดบัญชีใบกำกับฯ ได้โดยอัตโนมัติตามเป้าหมาย และสมบูรณ์ ตรงตามวิสัยทัศน์ของกรมศุลกากร และเป็นไปตามแนวปฏิบัติขององค์การศุลกากรโลก กรมศุลกากรวางแผนว่าจะพัฒนาโครงการต่อเนื่อง และจะนำระบบเทคโนโลยี Auto Matching ผ่าน NSW ไปใช้ที่ท่าเรือเอกชนรายอื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้าขาออกโดยตู้คอนเทนเนอร์ต่อไป

นายเกล็ดชัย เบญจอาธรศิริกุล กรรมการบริหาร-กลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง บริษัท เคอรี่ สยามซีพอร์ต จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันระบบ โลจิสติกส์ ทางทะเล ได้รับการพัฒนาไปมากสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้ข้อมูลการนำเข้าส่งออกต่างๆ สามารถเชื่อมโยงกัน และตรวจสอบได้ เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการทำงานให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ท่าเทียบเรือ เคอรี่ สยามซีพอร์ต มีความภูมิใจ ที่ได้รับเลือกให้เป็นท่าเรือเอกชนรายแรกในประเทศไทย ในการเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมศุลกากรผ่านระบบ NSW และเป็นท่าเรือเอกชนแห่งแรกในประเทศไทยที่ทำระบบ Auto Matching ร่วมกับกรมศุลกากรได้สำเร็จ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศ โดยระบบนี้ จะช่วยลดขั้นตอนการส่งมอบตู้สินค้าที่ท่าเรือ ทำให้ใช้เวลาน้อยลงไป 92% คือ จากเดิม 2 นาที เหลือเพียง 10 วินาทีเท่านั้น ทั้งยังเปิดให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ลดเวลาการรอของผู้ประกอบการขนส่งทางรถ ลดเวลาการรอของรถบรรทุกตู้สินค้าที่จะเข้าท่าเรือ และ ลดความแออัดของจราจรหน้าท่าเรือ จึงทำให้ผู้ประกอบการขนส่งทางรถ สามารถใช้รถได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำรอบรับงานได้มากนับได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย และเป็นการพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศไทยโดยรวม ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล

ด้าน นายวิโชติ สัมพันธรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฎิบัติการคอนเทนเนอร์ บริษัท เคอรี่ สยามซีพอร์ต จำกัด เปิดเผยถึงการทำงานของ ระบบ Auto Matching ผ่าน NSW ว่า แต่เดิมนั้น ผู้ส่งออก ทำการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้าเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร (e-Customs) พนักงานขับรถบรรทุกตู้สินค้านำใบกำกับฯ เข้าสู่ประตูตรวจสอบสินค้า (Gate) ภายในท่าเรือ เคอรี่ สยามซีพอร์ต จากนั้นพนักงานจะตรวจสอบข้อมูลน้ำหนักจริง และออกใบชั่งน้ำหนัก (EIR Weight) แนบมากับใบกำกับฯ ส่งมอบให้พนักงานขับรถ นำมายื่นให้กับเจ้าหน้าที่ศุลกากรเพื่อบันทึกน้ำหนัก และเลขที่ใบกำกับ เข้าสู่ระบบของกรมศุลกากรเพื่อตัดบัญชีใบกำกับ (Manual Matching) ระบบของกรมศุลกากร (e-Customs) จะประเมินผลว่าเป็น Green หรือ Red (ในกรณีคำสั่งเป็น Green เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะแจ้งให้พนักงานขับรถนำตู้เข้าสู่ท่าเรือเคอรี่ สยามซีพอร์ต เพื่อรอการส่งออก ในกรณีที่เป็น Red พนักงานขับรถจะต้องนำตู้สินค้าไปตรวจสอบโดยเครื่องเอกซเรย์ต่อไป)

ระบบการตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้าอัตโนมัติ (Auto Matching System) จึงได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่ เมื่อรถบรรทุกเข้ามาถึงประตูตรวจสอบสินค้า (Gate) พนักงานเคอรี่ สยามซีพอร์ตของบริษัทฯ จะค้นหาข้อมูลหมายเลขตู้สินค้าในระบบ NSW และจะชั่งน้ำหนักตู้สินค้าและส่งน้ำหนัก (EIR Weight) เข้าสู่ระบบ Web Service เพื่อประเมินความเสี่ยง โดยระบบของกรมศุลกากร (e-Customs) และออกคำสั่งการตรวจเป็น Green หรือ Red กลับมาโดยอัตโนมัติ โดยพนักงานขับรถจะทราบผลคำสั่งการตรวจจากหน้าจอมอนิเตอร์ (Monitor) และนำตู้สินค้าไปดำเนินการ ตามคำสั่งการตรวจต่อไป ซึ่งเป็นการตัดบัญชีใบกำกับฯโดยอัตโนมัติ (Auto Matching) โดยไม่ต้องผ่านเจ้าหน้าที่ศุลกากร ทำให้ลดขั้นตอนกระบวนงานศุลกากร เป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ เคอรี่ สยามซีพอร์ต เป็นท่าเรือน้ำลึกเอกชน ที่สามารถรองรับเรือขนส่งตู้สินค้าขนาดใหญ่ (Super Post Panamax) ตั้งอยู่ใกล้กับท่าเรือแหลมฉบัง เป็นท่าเรือน้ำลึกแห่งเดียวที่ให้บริการด้วยโซลูชั่นที่ครบวงจร สำหรับ สายเรือ ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และผู้ให้บริการโลจิสติกส์ นอกเหนือจากการให้บริการท่าเรือ แล้ว เคอรี่ สยามซีพอร์ต ยังให้บริการบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้า การบำรุงรักษาและซ่อมแซมตู้สินค้า คลังสินค้า การบริการขนส่งต่อเนื่องหลากหลายรูปแบบ โดยรถบรรทุก รถไฟ และทางเรือ เป็นต้น นอกจากนี้ ท่าเรือของ เคอรี่ สยามซีพอร์ต มีระบบการจัดการที่มีคุณภาพ และได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล ISPS, ISO 9001, ISO14001, OHSAS18001, และ GMP รวมถึงการทำงานร่วมกันอย่างมุ่งมั่นในอุดมการ์ณเพื่อการให้บริการแก่ผู้นำเข้าและส่งออกอย่างดีที่สุดของกรมศุลกากร และ ท่าเทียบเรือ เคอรี่ สยามซีพอร์ต ส่งผลให้ผู้ประกอบการสายเรือ ผู้นำเข้า และส่งออก รวมถึงผู้ประกอบการขนส่ง และ Customs Broker ได้รับการบริการที่สะดวกรวดเร็ว และ เป็นมิตรอย่างจริงใจจากเจ้าหน้าที่ทุกท่านอย่างแน่นอน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ