โอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า นักศึกษากลุ่มรามฯรักษ์ป่า มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้รวมกลุ่มกันตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน มีสมาชิก จำนวน 120 คน เพื่อสืบสานแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปลูกป่า สร้างฝายชะลอน้ำ และการเพาะพันธุ์พืชเพื่อขยายพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ จนได้รับรางวัลจากองค์กรต่างๆมากมาย อาทิ รางวัลรองชนะเลิศ "โครงการค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริ รุ่นที่ 5 ครั้งที่ 2" ณ ศูนย์ศึกษาห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ รางวัลชนะเลิศทีมเยาวชนดีเด่น จากโครงการค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริ รุ่นที่ 6 ครั้งที่ 1 รางวัลชนะเลิศทีมเยาวชนดีเด่น รุ่นที่ 6 ครั้งที่ 2 ณ ศูนย์ศึกษาภูพาน จังหวัดสกลนคร รางวัลชนะเลิศเยาวชนอาสาสืบสานพระราชดำริ เป็นต้น โดยได้นำรายได้จากการประกวดไปจัดกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่สังคมและชุมชนตลอดมา
ผศ.วุฒิศักดิ์ กล่าวอีกด้วยว่า "ขอแสดงความยินดีและชื่นชมนักศึกษาจากชมรมรามฯรักษ์ป่า ที่สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งที่ปรึกษากลุ่ม เจ้าหน้าที่ และรุ่นพี่ศิษย์เก่าทุกคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จตลอดระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมา นักศึกษากลุ่มนี้ถือเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเพื่อนๆอย่างยิ่ง เพราะเรื่อง "จิตสาธารณะ" ถือเป็นเรื่องสำคัญที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเน้นย้ำและปลูกฝังค่านิยมจิตอาสาให้กับนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษามีจิตสำนึกในการทำคุณประโยชน์ให้กับแผ่นดิน ช่วยเหลือพัฒนาชุมชนในชนบท และพัฒนาประเทศชาติให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาประเทศต่อไป"
ด้าน นางสาวจุฑามาศ นรชาญ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ ประธานกลุ่มรามฯรักษ์ป่า เปิดเผยว่ากลุ่มรามฯรักษ์ป่ามีอุดมการณ์ชัดเจนที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยยึดมั่นสร้างคุณประโยชน์ให้กับแผ่นดิน และตอบแทนประเทศชาติผ่านกิจกรรมจิตอาสา รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคม หลังจากนี้ยังคงตั้งใจสานต่ออุดมการณ์ของกลุ่ม และพระราชปณิธานของในหลวง ร.9 นำศักยภาพของเด็กรามฯ สู่การพัฒนาชุมชนเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
นางสาวเบญจวรรณ เขาแก้ว นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ สมาชิกกลุ่มรามฯรักษ์ป่า กล่าวว่าตอนเรียนมัธยมไม่มีโอกาสได้ทำกิจกรรมจิตอาสามากนัก เมื่อเข้ามาเรียนที่รามคำแหงและมีโอกาสได้ไปปลูกป่ากับกลุ่มรามฯรักษ์ป่า จึงทำมาตลอด เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไม่ให้ถูกทำลาย และช่วยเหลือพัฒนาพื้นที่ในชนบท เป็นการตอบแทนคุณแผ่นดิน และจะเดินหน้าทำกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาประเทศชาติต่อไป
นางสาวน้ำผึ้ง วิชัย นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ สมาชิกกลุ่มรามฯรักษ์ป่า กล่าวว่าตลอดระยะเวลา 3 ปีที่เป็นสมาชิกกลุ่มรามฯรักษ์ป่า ทุกพื้นที่ที่ร่วมกันลงมือลงแรงสร้างภูมิปัญญาให้กับชุมชน เป็นการสืบสานงานของพ่อหลวงกว่า 4,000 โครงการ ที่พระองค์ทรงพัฒนาผืนแผ่นดินไทยให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ช่วยให้ประชาชนอยู่อย่างพอมีพอกิน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสามารถพึ่งพาตัวเอง อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในป่า ที่ต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันตลอดไป