พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานสหรัฐได้ประกาศรายงานสถานการณ์และการจัดการการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด (Findings on the Worst Forms ofChild Labor) ประจำปี 2016 เลื่อนอันดับการดำเนินงานของประเทศไทยจากระดับที่มีความสำเร็จปานกลาง( Moderate Advancement) เป็นระดับที่มีความสำเร็จมาก Significant Advancement ซึ่งเป็นระดับสูงสุด เนื่องจากประเทศไทยมีการดำเนินการต่างๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฯ เช่น การแก้ไขกฎหมายอาญาเพิ่มโทษสำหรับผู้กระทำความผิด การจัดตั้งคณะทำงานสืบสวนอาชญากรรมที่เกี่ยวข้อง การดำเนินโครงการใหม่ในการป้องกันและลดการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และการทำงานร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในการรวบรวมข้อมูลและจัดทำสถิติจำนวนแรงงานเด็กภายในประเทศ เป็นต้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามกระทรวงแรงงานสหรัฐฯได้มีข้อแนะนำบางประการ เช่น จำนวนพนักงานตรวจแรงงานที่ไม่เพียงพอ การจ้างและฝึกอบรมล่ามเพื่อช่วยในการสื่อสาร ซึ่งกระทรวงแรงงานได้มีการดำเนินการตามข้อแนะนำแล้ว อาทิ การเพิ่มจำนวนพนักงานตรวจแรงงานจำนวน ๑๘๖ อัตรา การจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมพนักงานตรวจแรงงานเพื่อบังคับใช้กฎหมายแรงงานร่วมกับ ILO การจัดจ้างล่ามพร้อมจัดอบรมล่ามเพื่อช่วยสื่อสารระหว่างการตรวจแรงงาน นอกจากนี้จะร่วมมือกับ ILO ในการสำรวจสถานการณ์เด็กทำงานของประเทศ และเชื่อมั่นว่าจะสามารถรักษาระดับความสำเร็จของการดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องในปีต่อไป สำหรับรายงานสถานการณ์และการจัดการการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด (Findings on the Worst Forms of Child Labor) เป็นรายงานที่กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาจัดทำเป็นประจำทุกปี โดยจัดอันดับประเทศที่มีการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด เพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาการใช้แรงงานเด็กทั่วโลก และแบ่งเกณฑ์การประเมินเป็น ๕ ระดับ ได้แก่ (๑) ระดับที่มีความสำเร็จมาก (Significant Advancement) คือ มีความก้าวหน้าของการดำเนินการในเรื่องกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย การประสานงาน นโยบาย และแผนงานทางสังคมต่าง ๆ (๒) ระดับที่มีความสำเร็จปานกลาง (Moderate Advancement) คือ มีความก้าวหน้าของการดำเนินการบางประเด็น (๓) ระดับความสำเร็จน้อย (Minimal Advancement) คือ มีความก้าวหน้าของการดำเนินการเพียงเล็กน้อย (๔) ไม่มีความก้าวหน้าในการดำเนินการ (No Advancement) (๕) ไม่ได้รับการประเมิน (No Assessment) เนื่องจากไม่มีปัญหา หรือประชากรน้อยจนแรงงานเด็กไม่ใช่ปัญหาของประเทศนั้น