3 องค์กร "เนคเทค" "ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)" และ "มูลนิธิสยามกัมมาจล" สนับสนุนเด็กเก่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรุ่นใหม่ให้มีทักษะทำงานเป็น พร้อมพิสูจน์ความสำเร็จของ 15 ผลงานจากโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปีที่ 5 "ต่อยอด" พัฒนาผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี...ใช้ได้จริง สู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจในยุคไทยแลนด์ 4.0
เมื่อวันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปี 5 ได้มีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานของเยาวชนไอที 15 กลุ่ม สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) มีเป้าหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ที่ได้ผ่านการประกวดแข่งขันในงานมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย (Thailand IT Contest Festival) เป็นประจำทุกปีมา "ต่อยอด" สู่การนำไปใช้งานได้จริง โดยการจัดนิทรรศการครั้งนี้ จัดภายในงาน "ประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทค ประจำปี 2560" ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งมีผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการและผลงานเยาวชนไอที มีทั้งเยาวชน ผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไปเป็นจำนวนมาก
ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวว่า "การจะก้าวสู่ยุค Thailand 4.0 นั้น ประเทศชาติต้องการคนรุ่นใหม่ที่ต้องเป็นทั้งคนเก่งและคนดี ซึ่งในมิตินี้ โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ถือเป็นเบ้าหลอมที่ทำหน้าที่พัฒนาคนรุ่นใหม่ให้เป็นทั้งคนเก่งและดี โดยตลอด 4 ปีที่ผ่านมาเราได้เติมทักษะให้แก่คนรุ่นใหม่ใน 3 ด้านใหญ่ๆ คือ ทักษะในการลงมือทำ ที่มุ่งเน้นภาคปฏิบัติ ให้น้องๆ ได้นำองค์ความรู้หรือสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดมาลงมือทำ ไม่หยุดอยู่เพียงแค่ภาคทฤษฎี ทักษะการวางแผนงาน ทั้งในมิติของงาน เงิน และคน ให้เสร็จตามเวลาและภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และสุดท้ายคือทักษะการทำงานร่วมกับคนอื่น ที่มุ่งสร้างทักษะการทำงานเป็นทีม ที่ต้องรู้จักฟังและให้เกียรติเพื่อนร่วมทีม การเติมเต็มทักษะทั้ง 3 ด้านนี้ คือ สิ่งที่โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ให้ความสำคัญมาตลอด ที่สำคัญ คือ กระตุ้นให้น้องๆ ได้ตระหนักถึงคุณค่าของความคิดสร้างสรรค์ที่เขาคิดขึ้น และภาคภูมิใจในผลงานของตัวเองทั้งหมดทั้งมวลนี้ ก็เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่เป็นต้นแบบตัวคูณให้แก่ประเทศชาติ ทั้งในมิติของการเป็นตัวคูณในการสร้างงาน ในภาคอุตสาหกรรมหรือการทำงานจริง ที่น้องๆ จะสามารถเพิ่มผลผลิตในการทำงานให้แก่บริษัทนายจ้างหรือในธุรกิจที่ตัวเขาเป็นเจ้าของเอง รวมถึงตัวคูณในการสร้างคน ในมิติของการถ่ายทอดองค์ความรู้หรือทักษะที่เขาได้รับจากโครงการฯ ไปสู่เพื่อนๆ คนรอบข้าง หรือสังคมที่เขาอยู่ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศชาติไปสู่ความก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืนต่อไป"
ด้านนายกิตติรัตน์ ปลื้มจิตร ผู้จัดการโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ กล่าวว่า " โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เยาวชนเก่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาแสดงศักยภาพในการพัฒนาผลงาน เปลี่ยนจากโครงร่างไอเดีย และโครงงานวิทยาศาสตร์มาสู่การเป็นผลงานที่สามารถใช้ได้จริง หรือรับใช้สังคมได้ ซึ่งในปีนี้จาก 200 กว่าผลงานทั่วประเทศ เราคัดเลือกเพียง 15 ผลงาน ที่มีศักยภาพนำมา "ต่อยอด" ให้ไปสู่ผู้ใช้งานได้จริง แต่ก่อนจะมาถึงวันนี้ได้น้องๆทั้ง 15 กลุ่ม ต้องผ่านกระบวนการบ่มเพาะ และพัฒนาศักยภาพ ให้มีทักษะพัฒนาผลงานได้อย่างมืออาชีพ สร้างผลงานหรือนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่การประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติในด้านต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาจากเนคเทค ที่มาให้คำแนะนำต่อการพัฒนาผลงาน ในเรื่องการออกแบบการใช้งานของผลิตภัณฑ์ การคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภค การบริหารจัดการโครงการ การตลาด และการนำเสนอผลงานอย่างมืออาชีพ ควบคู่กับการได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อนำไปทดลองใช้และปรับปรุงผลงานกับผู้ใช้งานในระยะเวลาโครงการ 7-8 เดือน อีกทั้งยังสนับสนุนในเรื่องการต่อยอดผลงานของเยาวชนให้ไปสู่ภาคธุรกิจ เพื่อให้เกิดเป็นกิจการของคนรุ่นใหม่ต่อไป….
โดยในปีนี้ ผู้เชี่ยวชาญทั้งจากเนคเทค ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเอกชนผู้ที่เป็นภาคีร่วมต่างให้ความเห็นว่า ผลงานทั้ง 15 ชิ้นงาน มีศักยภาพต่อยอดและสามารถพัฒนาออกไปสู่ผู้ใช้ได้จริง ซึ่งบางผลงานได้รับความสนใจและนำไปทดลองใช้แล้ว อย่างเช่น กล่องเห็ดอัจฉริยะที่พัฒนาขึ้นจากฝีมือเด็ก ม.6 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยรังสิต ได้ทำอุปกรณ์ที่ช่วยควบคุมอุณหภูมิและความชื้นผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งมีผู้ประกอบการสั่งไปทดลองใช้แล้ว 2 ราย หรือหากใครสนใจก็สามารถนำไปทำเป็นอาชีพได้ หรือ ผลงาน Maker Playground จากน้องๆคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่พัฒนาWeb Application เพื่อช่วยให้นักประดิษฐ์มือใหม่สามารถออกแบบฮาร์ดแวร์โปรเจค หรือ IOT (Internet Of Things) ต่างๆได้ง่ายขึ้น รวมถึง Drageometry ผลงานจากนักเรียนมัธยมปลาย โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ที่พัฒนาสื่อการเรียนรู้ที่ช่วยพัฒนาทักษะให้ผู้เรียนได้เข้าใจเนื้อหาบทเรียนเรื่องรูปทรงเลขาคณิต เป็นต้น ดังนั้น จากวันแรกที่น้องๆเข้าโครงการ จนถึงวันนี้ เยาวชนทั้ง 15 ทีมได้นำผลงานออกสู่สายตาประชาชน จากโอกาสนี้เองเขาจะได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิด ประสบการณ์ พร้อมทั้งรับข้อเสนอแนะจากทีมโคช ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่มีโอกาสเป็นผู้ใช้ผลงานของเขาโดยตรง ซึ่งประโยชน์ที่น้องๆเหล่านี้ได้รับไปเต็มๆ นั่นคือ การมองเห็นโอกาสและแนวทางในการกลับไปพัฒนาผลงานของตนเองให้ตรงกับความต้องการของUser และสามารถนำผลงานชิ้นนั้นขายออกสู่ตลาดและกลายเป็นผู้ประกอบการในอนาคตได้"
เชื่อว่าหากเด็กเก่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลุ่มนี้ถูกบ่มเพาะ เจียรไนทักษะอย่างเต็มศักยภาพ เขาก็จะเติบโตขึ้นมาเป็นนักสร้างสรรค์ ที่ผลิตนวตกรรมใหม่ๆ โดยใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญของตนเอง มาสร้างประโยชน์ให้กับสังคมส่วนรวม อีกทั้งยังสร้างการขับเคลื่อน และพัฒนาขีดความสามารถของประเทศต่อไปอย่างยั่งยืน ติดตามความเคลื่อนไหวของเยาวชนโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปี 5 https://www.scbfoundation.com
สำหรับโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ปีนี้ได้ดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 5 และมีผลงานต่อยอดไอเดียคนรุ่นใหม่ใช้ได้จริง จำนวนทั้งสิ้น 15 ผลงาน แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้ 1.เกม 5 ผลงาน ได้แก่ Number of The Creation (NOTC) จากนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาชาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เป็นหนึ่ง จากนักเรียน มัธยมศึกษาตอนปลายโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ , Gary: Lost in the space จากนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์(นานาชาติ) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี , Frenzy Bunny-กระต่ายซ่าป่าสะเทือน จากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนระยองวิทยาคม และ Soul TwoSide จากนักเรียนมัธยมตอนปลายโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย 2.ผลงานเพื่อชุมชนหรือสนับสนุนกิจการและอาชีพ 5ผลงาน ได้แก่ Smart Mushroom Box (กล่องเห็ดอัจฉริยะ) จากนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่6 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยรังสิต , BioTreat - ผลิตภัณฑ์สำหรับรักษาโรคขาแดงในกบ จากนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนมัญจาศึกษา จ.ขอนแก่น , Rice keeping (เครื่องเก็บข้าวตากลานปูน) จากนักเรียนมัธยมตอนปลายโรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์จ.ยโสธร, Kept Yang – อุปกรณ์เก็บน้ำยางสะพายหลัง จากนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยตรัง และ Plug & Pay –ระบบควบคุมการจ่ายไฟฟ้า จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่ 3.ผลงานเพื่อผู้ป่วยและผู้พิการ 3 ผลงาน ได้แก่ Hear4U– แอปพลิเคชันแจ้งเตือนเสียงรอบข้าง จากมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ , Time for tales – ของเล่นโต้ตอบอัตโนมัติ จากนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , Bed lesion ชุดเฝ้าระวังการเกิดแผลกดทับด้วยตัวตรวจจับแรงกด FSR จากนักศึกษาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (นครราชสีมา) 4.สื่อการเรียนรู้ 1 ผลงาน ได้แก่ Drageometry – สื่อการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์เรื่องรูปทรงเรขาคณิต จากนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ 5. Web Application ประยุกต์ใช้งาน 1 ผลงาน ได้แก่ Maker Playground – โปรแกรมควบคุมระบบ IOT (Interne Of Things) จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี