รายงาน Commercial Drone Adoption in Agribusiness: Disruption and Opportunity ของอิปซอสส์ ระบุว่า สัดส่วนการใช้ โดรนในภาคเกษตรกรรมของจีนอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2% ของพื้นที่การเกษตร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการเติบโตของเทคโนโลยีดังกล่าวที่จะช่วยตอบโจทย์สำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรในกลุ่มเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศหรือภูมิภาคอื่นๆ เพื่อช่วยในการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตในระยะยาว เช่นเดียวกับตัวเลขการใช้โดรนเพื่อการเกษตรในไทยและฟิลิปปินส์ก็มีไม่ถึง 10% ของพื้นที่การเกษตร ขณะที่เกาหลีใต้อยู่ที่ระดับไม่ถึง 15% ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด
"ถึงแม้การใช้งานโดรนในภาคเกษตรกรรมจะมีประวัติความเป็นมาย้อนกลับไปได้จนถึงช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 ซึ่งญี่ปุ่นได้เริ่มใช้โดรนเชิงพาณิชย์ในภาคการเกษตร แต่เทคโนโลยีดังกล่าวกลับเพิ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง" คุณมาร์คัส เชียแรร์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีโดรนเพื่อการพาณิชย์ของอิปซอสส์ กล่าว "สำหรับผู้มีบทบาทในห่วงโซ่คุณค่าหลายๆรายนั้น การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าว ถือเป็นการส่งมอบทางเลือกด้านเครื่องมือทางเทคโนโลยีในราคาที่เอื้อมถึงให้แก่เกษตรกร เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการเพาะปลูก ตลอดจนช่วยจัดสรรทรัพยากรในการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รายงานฉบับดังกล่าวยังได้ชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่สำคัญสำหรับผู้ผลิตโดรน (UAV) ในเอเชีย ตลอดจนความท้าทายสำหรับบริษัทที่ทำธุรกิจการเกษตรในการแสวงหาแนวทางการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อตอบโจทย์ทั้งด้านต้นทุนและประสิทธิผลสำหรับเกษตรกรรายย่อยและบริษัทพาณิชย์รายใหญ่" คุณมาร์คัส กล่าวพร้อมกับเสริมด้วยว่า ทั้งไทยและฟิลิปปินส์ต่างก็มีการใช้โดรนบนพื้นที่เกษตรไม่ถึง 10% ขณะที่เกาหลีใต้นั้น มีการใช้งานไม่ถึง 15% ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความท้าทายและโอกาสในการเติบโตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไม่เฉพาะแค่โอกาสในประเทศจีนเท่านั้น
ในฐานะเครื่องมือทางการเกษตรที่มีความแม่นยำสูง เทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยยกระดับแนวทางการเพาะปลูกแบบดั้งเดิม อีกทั้งยังสร้างแรงดึงดูดทางธุรกิจอีกด้วย โดยผลการศึกษาบางชิ้นมีการประมาณการว่า โดรนทางการเกษตรช่วยลดปริมาณการใช้น้ำในการชลประทานได้ถึง 90% และลดการใช้สารเคมีได้มากถึง 30-50%
คุณนที เรืองจิระชูพร หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาธุรกิจการเกษตรระดับโลกของอิปซอสส์ กล่าวว่า มีหลายสิ่งที่คล้ายคลึงกันกับแนวคิดริเริ่มในการนำเครื่องจักรมาใช้ในการเกษตรช่วงก่อนหน้านี้ แต่ก็เห็นด้วยกับคุณมาร์คัสว่า เทคโนโลยี UAV จะช่วยสร้างโอกาสที่ดีกว่าในการเป็นทางเลือกของการใช้เครื่องจักรในภาคการเกษตรด้วยราคาที่สามารถเอื้อมถึง ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่เพาะปลูกใช้เทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น "รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมพยายามแก้ปัญหาท้าทายในด้านการเพิ่มอัตราการประยุกต์ใช้เครื่องจักรในภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มผลผลิตและปรับปรุงคุณภาพของพืชผลมานานแล้ว ถึงแม้จะมีผู้ที่ประสบความสำเร็จในภูมิภาคเอชียแปซิฟิกอยู่จำนวนหนึ่ง แต่อัตราการขยายตัวของการใช้เครื่องจักรในภาคการเกษตรนั้น กลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่ทุกฝ่ายคาดหวังไว้ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่มีขนาดพื้นที่ไร่นาขนาดเล็ก ทำให้มีความยากลำบากในการจัดหาเครื่องจักรมาใช้งานเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน ดังนั้นโดรนจึงจะเป็นทางเลือกที่จะช่วยให้สามารถก้าวข้ามอุปสรรคดังกล่าวได้ และเพิ่มโอกาสในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการในภาคการเกษตรมากขึ้น เราได้เห็นผู้ทำธุรกิจ AgTech จำนวนมาก ต่างก็พยายามรุกนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการของตนเองกันอย่างกระตือรือร้น อย่างไรก็ดี แนวทางปฏิบัติและวิธีการการเพาะปลูก รวมถึงพฤติกรรมของเกษตรกรที่มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น จัดเป็นหนึ่งในข้อควรพิจารณาที่สำคัญสำหรับผู้ทำธุรกิจแต่ละรายในการวางกลยุทธ์การตลาดให้ประสบความสำเร็จในภูมิภาคนี้"
หลังจากที่ได้เปิดตัวเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรทางเลือกใหม่ ปัญหาท้าทายต่อมาคือ การทดสอบวิธีปฏิบัติในด้านการเกษตร แนวทางการนำไปใช้ และความน่าดึงดูดในตลาด เพื่อประเมินขอบเขตผลกระทบของโดรนทางการเกษตร
รายงาน Commercial Drone Adoption in Agribusiness: Disruption and Opportunity ยังได้ระบุใจความสำคัญที่ส่งถึงยังกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่ต้องการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของผลผลิตทางการเกษตรว่า มีผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีระดับนวัตกรรมมากมายที่มีการเปิดตัวไปในภาคอุตสาหกรรมทางการเกษตรของเอเชียนับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ผ่านมา แต่ก็มีน้อยรายที่ประสบความสำเร็จได้ตามที่คาดหวัง บริษัทเหล่านั้นมุ่งหวังว่าจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีโดรนที่กำลังมาแรงนี้ในฐานะสิ่งสำคัญที่ต้องทำเป็นลำดับแรก เนื่องจากการทำความเข้าใจในปัจจัยและผลที่ตามมาจากการใช้งานโดรนนั้น ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นในการกำหนดแผนกลยุทธ์ในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ โดยในแต่ละบริบทของตลาด รายงานของอิปซอสส์ยังแสดงให้เห็นถึงความผันแปรในด้านของกฎเกณฑ์ ความท้าทายด้านผลผลิต ตลอดจนแรงจูงใจทางเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลต่อการใช้งานโดรนเพื่อการเกษตรในแต่ละประเทศอีกด้วย
สามารถดาวน์โหลดรายงานจากแผนกที่ปรึกษาทางธุรกิจ บริษัท อิปซอสส์ จำกัด ในรูปแบบ PDF ได้ที่ www.ipsosconsulting.com/Agriculture-Drones
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
คุณชีวานนท์ ปิยะพิทักษ์สกุล
ผู้จัดการฝ่ายมาร์เก็ตติ้ง คอมมิวนิเคชั่นส์
Ipsos Business Consulting
โทร.+66 088 0105
อีเมล: [email protected]