ไทยเปิดบ้าน เจ้าภาพเวที AMAF เสริมความร่วมมือ APTERR เดินหน้ายกระดับภาคเกษตร

อังคาร ๒๖ กันยายน ๒๐๑๗ ๑๐:๑๗
เกษตรฯ เจ้าภาพจัดใหญ่ ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้ หรือ AMAF ณ จังหวัดเชียงใหม่ รุกยกระดับสินค้า แก้ปัญหาภาคเกษตร ด้าน สศก. เผย APTERR หนุนประเทศสมาชิกร่วมทำสัญญาซื้อขายข้าวล่วงหน้า ผลักดันแผนการเงินระยะ 5 ปี เพิ่มเงินทุนสำหรับดำเนินการช่วยเหลือประเทศสมาชิกกรณีประสบภัยพิบัติฉุกเฉินร่วมกัน

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ (AMAF) ระหว่างวันที่ 28 – 29 กันยายน 2560 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งประกอบด้วย การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 39 ซึ่งมีสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ กับรัฐมนตรีประเทศบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) ( AMAF +3 ) ครั้งที่ 17 โดยมีพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน

การประชุมครั้งนี้ มีการพิจารณาและให้ความเห็นชอบต่อการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่จะดำเนินการในปี 2561 ในด้านภาคเกษตร ประกอบด้วย 1) การกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร 2) การพิจารณาให้ข้อเสนอแนะและให้ความเห็นชอบต่อยุทธศาสตร์ความร่วมมืออาเซียน + 3 ด้านอาหาร เกษตร และป่าไม้ 3) การพิจารณาแผนงานขององค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม หรือ APTERR ได้แก่ การผลักดันให้ประเทศสมาชิกร่วมดำเนินงานโดย การทำสัญญาซื้อขายข้าวล่วงหน้า และแผนบริหารการเงินของสำนักเลขานุการฯ ระยะ 5 ปี (2561 – 2565) และ 4) การผลักดันและติดตามการดำเนินการตามนโยบายประมงร่วมประชาคมอาเซียน

สศก. ในฐานะที่มีบทบาทในการสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักเลขานุการ APTERR และรับผิดชอบหลักในการเป็นหน่วยงานประสานของประเทศไทย (Thailand's APTERR Coordination Agency) รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของสำนักเลขานุการ APTERR เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการดำเนินงานเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกในกรณีที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน พร้อมที่จะผลักดันให้ประเทศสมาชิกร่วมดำเนินงานโดยการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Forward contract) ตาม Tier 1 เพื่อให้ประเทศสมาชิกจับคู่ทำสัญญาซื้อขายข้าวในราคาที่เหมาะสม รวดเร็ว ทันต่อการช่วยเหลือ โดยขณะนี้ประเทศไทย เวียดนาม เกาหลี และญี่ปุ่น ได้เสนอตัวเป็นประเทศผู้ขายข้าว (Supplying Country) และยังอยู่ระหว่างการรอให้ประเทศเทศสมาชิกแจ้งประเทศผู้ซื้อข้าว (Demanding Country)

สำหรับการแก้ไขแผนบริหารการเงินของสำนักเลขานุการฯ สำหรับปี 2561 – 2565 ได้ดำเนินการตามมติคณะมนตรีAPTERR ที่เห็นชอบให้มีการเพิ่มการบริจาคเงินทุนสำหรับการดำเนินการ สำหรับในช่วง 5 ปีข้างหน้า ในวงเงินรวมเท่าเดิม ซึ่งการดำเนินงานของ APTERR จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศสมาชิก ในการมีระบบสำรองข้าวไว้ในยามฉุกเฉินเพื่อบรรเทาภาวะขาดแคลนอาหารในกรณีเกิดภัยพิบัติ หรือความยากจนในประเทศสมาชิกอาเซียน+3 รวมถึงให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในระยะยาวต่อไป ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยเองได้รับความช่วยเหลือในปี 2554 ในเหตุการณ์มหาอุทกภัย โดยประเทศญี่ปุ่นได้บริจาคข้าวผ่าน APTERR เป็นจำนวน 50,000เหรียญสหรัฐฯ เพื่อซื้อข้าวของประเทศไทยจำนวน 50 ตัน และข้าวบรรจุกระป๋อง จำนวน 31,000 กระป๋อง และในคราวเกิดพายุไห่เยี่ยนที่ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศไทยได้ร่วมบริจาคข้าวให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแก่ฟิลิปปินส์ จำนวน 5,000 ตัน นับเป็นการส่งเสริมบทบาทของการประสานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมร่วมกัน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ