มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นองค์กรหนึ่งที่ได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาคน โดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ และมองว่าการติดอาวุธทางปัญญาเรื่องการทำธุรกิจแบบยั่งยืน ที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาคนให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม น่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในยุคไทยแลนด์ 4.0ได้ จึงจัดค่ายพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการสังคม ในโครงการพัฒนาเยาวชนด้านความเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม ซึ่งดำเนินงานโดย Ma:D Club for Better Society มาบ่มเพาะศักยภาพเยาวชนในโครงการ Active Citizen และโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ที่สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ให้เป็นคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการที่สามารถนำผลงาน หรือผลิตภัณฑ์ของตนเอง มาต่อยอดส่งออกสู่ตลาด รวมถึงการมีความสามารถพัฒนาธุรกิจไปสู่การจัดตั้งกลุ่มเป็นกิจการเพื่อสังคมได้
นายกิตติรัตน์ ปลื้มจิตร ผู้จัดการโครงการ Active Citizen และต่อกล้าให้เติบใหญ่ กล่าวว่า "เป้าหมายหลักของการจัดค่ายครั้งนี้ คือ ต้องการนำเยาวชนที่เคยทำโครงการพัฒนาชุมชน อย่างโครงการ Active Citizen รวมถึง โครงการเด็กเก่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ นำผลิตภัณฑ์ในชุมชนของตนเอง หรือชิ้นงานด้านนวตกรรมและเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในด้านการพัฒนาชิ้นงานมาต่อยอดในเชิงธุรกิจ แต่ในเบื้องต้นอยากให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการได้เข้าใจในความหมายของการเป็นผู้ประกอบการทางสังคมว่า คืออะไร และต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่ต้องไปถึงการเป็นผู้ประกอบสังคมทันที เพียงแต่เขาต้องเข้าใจก่อนว่าหากจะทำสิ่งนี้ได้ เขาต้องกลับไปทบทวนเรื่องอะไรบ้าง และสิ่งที่เขาทำมันส่งผลกระทบอย่างไรต่อผู้คนในสังคม ที่สำคัญจะทำอย่างไรให้ธุรกิจเพื่อสังคมที่เขาสร้างขึ้นเกิดความยั่งยืน"
โดยสองวันของการจัดค่ายฯ เยาวชนทั้ง 7 โครงการ ที่มาจากโครงการ Active Citizen 5 โครงการ และต่อกล้าให้เติบใหญ่ อีก 2 โครงการ ประกอบด้วย1.โครงการเรียนรู้และอนุรักษ์การทอผ้าไหมลายลูกแก้วของชาวกูย จ.ศรีษะเกษ 2.โครงการเส้นสายลายไหมมัดหมี่มัดใจสานสายใยกอนกวยโซดละเว จ.ศรีษะเกษ 3.โครงการบอกกล่าวเล่าขานน้ำตาลมะพร้าวท่าคา จ.สมุทรสงคราม 4.โครงการพาน้องเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อขยายผลสู่คนในชุมชนบ้านมั่นคง จ.สมุทรสงคราม (ของดีแพรกหนามแดง) 5. โครงการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนบ้านหนองโบสถ์ จ.สมุทรสงคราม (สับปะรดกวน) 6.Perfect KINOKO เครื่องรดน้ำเห็ดอัตโนมัติ และ7.WIFBOX Automatic wifi machine ต่างก็ได้รับความรู้ในการเป็นผู้ประกอบการทางสังคมใน 2 ประเด็นหลัก…เรื่องแรก คือ หัวใจสำคัญของธุรกิจเพื่อสังคม – ในส่วนนี้เยาวชนทั้ง 7 กลุ่มต้องเข้าใจแก่นของการเป็นผู้ประกอบการทางสังคมที่ประกอบไปด้วยคุณค่าทั้งสองด้าน คือ ด้านการแก้ปัญหาหรือพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม กับอีกส่วนหนึ่ง คือ ด้านการพัฒนาธุรกิจและองค์กรให้พึ่งพาตนเองได้ สามารถเติบโต ขยายผล ให้เกิดความยั่งยืน เรื่องที่สอง คือ การเรียบเรียงความคิดเพื่อต่อยอดในสิ่งที่ทำอยู่มาผสานกับเครื่องมือทางธุรกิจ เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆในการพัฒนาผลงาน
น.ส.ปรีห์กมล จันทรนิจกร Founder & Managing Director Ma:D Club for Better Society กล่าวว่า "กระบวนการทั้งสองวัน เน้นให้เยาวชนมองเห็นภาพรวมของการทำธุรกิจ Social Enterprise หรือ การเป็นผู้ประกอบการทางสังคม เปิดให้น้องเห็นว่ามีโมเดลธุรกิจแบบนี้อยู่ในสังคม ซึ่งเขาสามารถทำเรื่องดีๆให้กับผู้อื่น ชุมชน สังคม ในขณะเดียวกันก็สร้างความยั่งยืนขององค์กรโดยการพึ่งพาตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องรอเงินสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆเพียงอย่างเดียว รวมถึงการปรับมุมมอง ในการสร้างสรรค์งานที่ไม่ยึดติดอยู่ในกรอบหรือประสบการณ์เดิมๆ หรือแม้แต่การทำเรื่องสังคมอย่างไรให้สร้างสรรค์ที่เป็นมากกว่าแค่เรื่องบริจาค …นอกจากความรู้เหล่านี้ ก็ยังมีผู้เชี่ยวชาญในแวดวงธุรกิจ Social Enterprise มาให้คำปรึกษา แนะนำเทคนิคต่างๆให้เยาวชนทั้ง 7 โครงการไปปรับใช้ในการเขียนแผนธุรกิจของตนเองต่อไป"
ค่ายพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการสังคม ได้กระตุก ปลุกฝัน พร้อมยังเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มองเห็นคุณค่าในตัวเอง และอยากสร้างคุณค่าให้ผู้อื่น…นายวรปรัชญ์ อัตไพบลูย์ อายุ 24 ปี ตัวแทนจากทีม WIFBOX Automatic Wi-Fi machine (ตู้หยอดเหรียญที่ให้บริการสัญญาณไวไฟในที่สาธารณะ) จากโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่รุ่นที่ 3 เล่าความรู้สึกที่ได้เข้าค่ายครั้งนี้ ว่า… "การมาร่วมค่ายครั้งนี้ ทำให้ผมอยากกลับไปทบทวนเป้าหมายของผลงานเราให้ชัดขึ้น ว่าแท้จริงแล้วกลุ่มเป้าหมายเรา คือใคร และทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร การมีผู้เชี่ยวชาญด้าน Social Enterprise มาให้คำปรึกษา ทำให้ผมและเพื่อนเห็นช่องว่าง ความผิดพลาดบางอย่างที่ได้มองข้ามไปในการทำธุรกิจ พี่ๆเขาสะกิดให้เรามองเห็นมุมอื่นในการพัฒนางานที่นอกเหนือจากเทคนิค เห็นเส้นทางในการทำให้ธุรกิจให้เติบโตและชัดขึ้น เหมือนเรามีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำแบรนดิ้ง การทำมาร์เกตติ้ง อีกสิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือ การเติมเต็มให้สังคม พวกผมโตมาในยุคดิจิตอล ในยุคอินเตอร์เนต เราได้เรียนรู้จากมัน ก็อยากจะมอบสิ่งนี้ให้กับคนที่เขายังไม่เคยใช้ ให้เขาได้เติบโต เรียนรู้ ซึ่งผมกับเพื่อนตั้งใจว่าหากงานของเราสำเร็จในระดับนึงแล้ว ก็อยากทำเครื่องกระจายสัญญาณไวไฟให้กับเด็กบนเขา ให้น้องๆเขาได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่พวกผมสร้างขึ้นมา"
ถึงแม้ในเวลานี้คำว่า Social Enterprise หรือ การเป็นผู้ประกอบการทางสังคม ในประเทศไทยยังไม่คุ้นหูมากนัก แต่อย่างน้อยค่ายฯนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการจุดประกายให้เยาวชนได้รู้จักกับสมการธุรกิจสายพันธุ์ใหม่ ที่ให้ทั้งความสุข รายได้ และแก้ปัญหา-พัฒนาให้สังคม ซึ่งหลังจากนี้เยาวชนทั้ง 7 ทีมจะต้องกลับไปทบทวน เรียบเรียงความคิด จากโจทย์การวางแผนธุรกิจเบื้องต้น ในการพัฒนาผลงานตนเองต่อไป เพื่อเดินสู่บันไดการเป็นผู้ประกอบการทางสังคมอย่างยั่งยืน