ซึ่ง สนค. จ้างที่ปรึกษาจาก ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย เพื่อประเมินศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศของผู้ผลิตและผู้ประกอบการสินค้าสมุนไพร
รวมถึงบทบาทของภาครัฐที่จะสนับสนุนและผลักดันสินค้าและผลิตภัณฑ์สู่สากล ประกอบกับนำข้อมูลไปใช้เป็นแนวทางให้ใช้หลักการตลาดนำการผลิต ภายใต้ "ยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพตลาดสมุนไพรไทย" จาก 4 สมุนไพรนำร่อง
ประกอบด้วย ขมิ้นชัน ไพล บัวบก และกระชายดำ โดยภายในงาน มีการเสวนาในหัวข้อ "โอกาสและความท้าทายของธุรกิจสมุนไพรไทย" มีวิทยากรจากตัวแทนผู้ประกอบการสินค้าสมุนไพรทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ร่วมเสวนาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของสถานการณ์สินค้า และตลาดสมุนไพรในปัจจุบัน
รวมทั้งโอกาสของสมุนไพรในตลาดโลก และแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยจากรายเล็กสู่เวทีระดับประเทศ พร้อมทั้งการใช้ Cross-border e-Commerce เพื่อเป็นลู่ทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรสู่ตลาดโลก
จากผลการศึกษาโครงการฯ พบว่า ขมิ้นชัน ส่วนใหญ่ถูกส่งเข้าสู่โรงงานแปรรูป โดยแบ่งเป็น แปรรูปขั้นต้น และในรูปสารสกัด โดยถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมในประเทศ
อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร 80% อุตสาหกรรมยา และเครื่องสำอาง อย่างละ 10% ซึ่งตลอดห่วงโซ่อุปทานมีมูลค่าการซื้อขายมากถึง 6,848 ล้านบาท และปลายน้ำมีมูลค่าการซื้อขายมากถึง 5,500 ล้านบาท คืออุตสาหกรรมอาหาร ยา และเครื่องสำอาง
ทั้งนี้ในปี 2559 มีการส่งออกทั้งหมด 12,852,200 ล้านบาท ไปยัง สหรัฐอเมริกา สวีเดน และเยอรมัน สัดส่วน 41.2% 24.6% และ 6.8% ตามลำดับ
ไพล ถูกแปรรูปเป็นไพลแผ่น และน้ำมันไพลสกัด โดยถูกใช้ในอุตสาหกรรมยา 70% เครื่องสำอางและสปา 30% ทั้งนี้อุตสาหกรรมยาส่วนใหญ่จะเป็นยาสำหรับใช้ภายนอก
อาทิ น้ำมันเหลืองไพล ยาหม่องไพล และครีมไพล ซึ่งถูกใช้ในประเทศเป็นหลัก แต่มีส่งออกไปต่างประเทศบ้าง เช่น จีน อินโดนีเซีย ยุโรป เป็นต้น ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและสปา พบว่า ลูกประคบ ถูกส่งออกไปยัง ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา
บัวบก ส่วนใหญ่จะทำการอบแห้งก่อนเข้าสู่การแปรรูปเป็นสารสกัด หัวเชื้อ และน้ำมัน จากนั้นจะเข้าสู่ 3 อุตสาหกรรม คือ อาหารและเครื่องดื่ม 35% ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 25% เครื่องสำอางและเครื่องประทินผิว 40% การส่งออกยังอยู่ในปริมาณน้อย และส่งออกไปยัง จีน อาเซียน และยุโรป
กระชายดำ ถูกแปรรูปขั้นต้นในรูปแบบอบแห้ง และสารสกัด ส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมในประเทศ ได้แก่ ยา 30% และอาหาร 70% แต่บางส่วนถูกส่งออกไปยัง ญี่ปุ่น และจีน ทั้งนี้อุตสาหกรรมอาหารถูกแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ส่วนอุตสาหกรรมยาจะแปรรูปเป็นแคปซูลมากถึง 90%
โดยทั้ง 4 สมุนไพร มียุทธศาสตร์ที่จะดำเนินการต่อไปคือ 1) การจัดการวัตถุดิบและการแปรรูป 2) การพัฒนานวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มในการแปรรูปผลิตภัณฑ์สู่มาตรฐานสากล 3) การสร้างโอกาสทางการตลาดสมุนไพรไทยโดยผลักดันให้เป็น New Thailand Signature 4) ยุทธศาสตร์สนับสนุน อาทิ กฎหมาย กฎระเบียบ และการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน
ด้าน หมอเบญ หรือ เบญจวรรณ หมายมั่น แพทย์แผนไทยประยุกต์ ประจำโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวกับ ทีมข่าว เว็บไซต์ Medhubnews.com ว่า "ขมิ้นชัน" ถือเป็นสมุนไพรที่ยอดเยี่ยมมาก หลายๆ คนจะรู้แค่ว่า แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ซึ่งขมิ้นชัน เป็นราชาเครื่องเทศอันเลื่องชื่อของประเทศอินเดียมามากกว่า 4000 ปี และไทยเราเองโดยเฉพาะพ่อแม่พี่น้องชาวภาคใต้ต่างนำ ขมิ้นชัน มาใช้ประกอบอาหารปรุงอร่อย
ส่วนขมิ้นชัน มีคุณอนันต์ มากขนาดไหนนั้น หมอเบญ ระบุว่า คุณประโยชน์ มีมากมายหลายประการ โดย ขมิ้นชัน รักษาโรคกระเพาะ กรดไหลย้อน ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อป้องกันอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ โรคหัวใจและหลอดเลือด ลดอาการแพ้ ลดผื่นคัน สมานผิว บำรุงผิว และในวงการกีฬา มักจะนำ ขมิ้นชัน ไปใช้
เพราะมีสารออกฤทธิ์เคอร์คิวมินอยด์ ซึ่งจัดเป็นฟลาโวนอยด์ ( flavonoids ) ประกอบด้วย เคอร์คิวมิน (curucmin) ดีเม็ทธอกซีเคอร์คิวมิน ( demethoxycurcumin ) และ บิส-ดีเม็ทธอกซีเคอร์คิวมิน ( bis-demethoxycurcumin ) มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ( anti-oxidant ) ต้านการอักเสบ ( anti-inflammation ) อีกด้วย
รวมทั้ง สามารถรับประทานบำรุงต่อเนื่องได้ทุกวัน ค่าความปลอดภัยสูง เหมาะกับทุกเพศ ทุกวัย รับประทานเบื้องต้น 2 แคปซูล หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น
แต่ หมอเบญ ก็มีคำเตือนให้จำไว้ว่า "ขมิ้นชัน ห้ามใช้ในคนที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี หรือ ท่อน้ำดีอุดตัน เนื่องจากจะไปเพิ่มการหลั่งน้ำดี อาจมีผลทำให้เกลือในน้ำดีจับกับก้อนนิ่ว ส่งผลให้ก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ขึ้นได้ และหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนใช้ ห้ามลืมเด็ดขาดค่ะ" หมอเบญ กล่าวทิ้งท้ายกับ ทีมข่าว เว็บไซต์สุขภาพ Medhubnews.com