สำหรับวาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้มีหลายประเด็นที่สำคัญ ทั้งที่เป็นการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานที่ผ่านมาของอาเซียน อาทิ การจัดทำมาตรฐานฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับสินค้าปลาทูน่าและผลิตภัณฑ์ของอาเซียน เพื่อส่งเสริมการค้าสินค้าปลาทูน่าและผลิตภัณฑ์ระหว่างอาเซียนและตลาดโลก การจัดตั้งกลุ่มเจรจาด้านการเกษตรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ของอาเซียนกับประเทศจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี รวมถึงประเด็นที่ใหม่แต่ละประเทศยกขึ้นมาพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปและบรรจุเป็นวาระการประชุมในระดับรัฐมนตรีให้ความเห็นขอบ เช่น การขับเคลื่อนนโยบายประมงอาเซียนที่ไทยผลักดันให้ประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินการร่วมกันภายใต้กลไกอาเซียน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางการประมงและความมั่นคงอาหารของประชาคมอาเซียน
"การประชุมครั้งนี้ เราคาดหวังว่ากลุ่มอาเซียนจะใช้ประโยชน์จากจุดแข็งที่หลากหลายของเราประเทศสมาชิกในการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถในด้านความปลอดภัยด้านอาหารการเกษตรการประมงปศุสัตว์และป่าไม้ ซึ่งจะคำนึงถึงความจำเป็นในการประสานกิจกรรมต่างๆ ที่ต่างเห็นพ้องร่วมกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดความร่วมมือในการส่งเสริมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อให้มั่นใจว่าผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมจะเข้าถึงเกษตรกรและประชาชนของประเทศสมาชิก ในขณะเดียวกันการลงทุนในภาคเกษตรที่แข็งแกร่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการจ้างงานเพิ่มความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบและสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างยั่งยืนด้วย" นายเลิศวิโรจน์ กล่าว