เปิดใจ “ต้นตระกูล แก้วหย่อง” โปงลาง รองชนะเลิศ SET เยาวชนดนตรี ปี 2557 ปลุกดนตรีพื้นบ้านสู่ระดับโลก

พุธ ๒๗ กันยายน ๒๐๑๗ ๑๕:๐๐
ความชื่นชอบในโปงลาง สนใจหมอลำ หลงใหลในเพลงพื้นบ้าน ได้ทำให้หนุ่มชัยภูมิ "ต้น" หรือ "ต้นตระกูล แก้วหย่อง" ก้าวสู่ถนนสายดนตรีอย่างไม่หยุดยั้ง และพร้อมจะพาดนตรีพื้นบ้านให้ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติมากขึ้นไปอีก

นับจากปี 2551 ที่เข้าศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เครื่องดนตรีเอกโปงลาง ต้นตระกูล ก็สามารถกวาดรางวัลจากหลายเวที เริ่มจากปี 2552 ได้รับรางวัลชนะเลิศ วงดนตรีไทยร่วมสมัยในการประกวดโครงการช้างเผือกคุณพระ ชิงเข็มกลัดพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รายการคุณพระช่วย และปี 2554 ได้รับรางวัลชนะเลิศ 1st Prize เครื่องดนตรีโปงลาง ประเภท Folk Instruments ในการแข่งขัน The 12th OSAKA International Music Competition ณ เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งต้นตระกูล เล่าถึงความพิเศษของการแสดงโปงลางที่ทำให้กรรมการฝรั่งทึ่ง ว่า

"ก่อนนั้นมีคนแข่งประเภทโฟล์คมิวสิค ไม่จำกัดอายุ คนไทยหลายคนก็ได้รางวัลมาแต่ไม่ได้รางวัลที่ 1 ผมเอาโปงลางไปเล่น กรรมการดนตรีก็งง ถามว่าเครื่องดนตรีนี้คืออะไร มีในไทยด้วยหรือ ดนตรีนี้เพิ่งมี 50-60 ปี พัฒนาจากเกราะลอ ซึ่งใช้ตีเรียกสัญญาณในหมู่บ้าน ยุค 2500 พัฒนาเป็นโน๊ตจูนเสียง ที่โอซาก้ากรรมการเป็นฝรั่ง บอกว่า ทึ่งมาก ไม่เคยเห็น ดูเหมือนเอาไม้ผุๆ พังๆ มาแข่งแต่มันมหัศจรรย์ ทั้งการตี เทคนิค บทเพลงคิดได้ไง ตัดสินมาหลายปี ไม่เคยเห็นเครื่องดนตรีประหลาด เหมือนไม่มีอะไร แต่กลับมีอะไรมากกว่าคนอื่น"

ความก้าวหน้าทางดนตรีของต้นตระกูล ยังไม่หยุดยั้ง เมื่อเขาได้รับรางวัล รองชนะเลิศอันดับ 1 SET เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 17 ปี 2557 ซึ่งเป็นงานที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ร่วมกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการประกวดขึ้นทุกปี เพื่อหวังใช้ดนตรีสร้างเสริมศักยภาพแก่เยาวชน โดยรับตั้งแต่ระดับประถมถึงอุดมศึกษา ซึ่งต้นตระกูล ได้เล่าถึงที่มา และการขวนขวายสู่การแข่งขันในเวที SET ว่า

"ตอนนั้นเรียนปีสี่ หลายปีก่อนเป็นสตาฟให้งานประกวดของตลท. เห็นเพื่อนๆ รุ่นน้องๆ ลงแข่ง ประสบความสำเร็จเป็นโปรไฟล์ เห็นว่ามีพัฒนาการเป็นขั้นบันได ประกอบกับเรียนปีสุดท้ายแล้วอยากลอง รอบเทสต์กับรอบรอง เล่นเพลงแมลงภู่ตอมดอกไม้ ส่วนรอบชิงชนะเลิศเล่นเพลงกาเต้นก้อน เป็นอีกาเต้นในท้องทุ่งนา

"กรรมการชมว่าเพลงอีสานทำเป็นโซโลได้ขนาดนี้เลยหรือ ต้องยกความดีให้อาจารย์ผู้สอน คืออาจารย์นิติธร หิรัญหาญกล้า มีกลเม็ดทำให้ดนตรีไทยน่าสนใจมากขึ้น ไปสู้กับเครื่องดนตรีอื่นๆ ได้ และเป็นผู้ทำให้ผมอยากประกวด อีกท่านชื่ออาจารย์พิณทิพย์ ทิพย์ประเสริฐ ชื่อในวงการคือ คำเม้า เปิดถนน เป็นอาจารย์พิเศษที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และเป็นมือพิณวงพาราไดซ์ บางกอก เรียกว่าผมเรียนเพลงจากอาจารย์คำเม้า แต่มาพัฒนารูปแบบการเล่น พัฒนาการโชว์จากอาจารย์นิติธร ทำให้เพลงพื้นบ้านที่ฟังเพลินๆของผม พัฒนามีมูฟเมนท์ มากขึ้น สามารถสู้กับเพลงแจ๊ส หรือเพลงอื่นๆ ของตะวันตกได้ ผมภูมิใจมากที่ได้ยิน กรรมการบอกว่า เป็นกรรมการหลายสิบปี ไม่เคยเห็นความแหวกแนว แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์อีสานได้อยู่"

ปัจจุบันต้นตระกูลอายุ 25 ปี และกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโทในสาขาเดียวกับปริญญาตรี และในฐานะนักดนตรี เขาได้เดินทางไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมในอีกหลายประเทศ รวมถึงงาน เอซีซี เวิลด์ มิวสิก เฟสติวัล ที่เกาหลี ต้นตระกูลยังหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งวง Asia 7 วงดนตรีแนวฟิวชั่นผสมผสานดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้าน ผสมดนตรีแจ๊ส เป็นกึ่งๆ ดนตรีนอกกระแส เอาดนตรีพื้นบ้านมาต่อยอด ทำให้ฟังได้ง่ายรวมทั้งเป็นสมาชิกวงรัศมีอีสานโซล (Rasmee Isan Soul) ซึ่งนำดนตรีอีสานหรือดนตรีพื้นบ้านมาต่อยอดในการทำงาน โดยเล่าเรื่องหมอลำ เจรียง กันตรึม โดยเขาเป็นผู้เล่นพิณและแคน

ต้นตระกูลเล่าถึงความตั้งใจว่า อยากช่วยพัฒนาดนตรีไทย และดนตรีพื้นบ้านให้ไปสู่จุดที่นานาชาติยอมรับ เหมือน "โปงลาง" เครื่องดนตรีที่มีเพียงไม้ไม่กี่ชิ้น ที่เขาสามารถใช้สร้างเสียงเพลงให้ชวนตื่นตาตื่นใจ เป็นเสียงเพลงที่ใครๆ ก็ฟังได้

"มีการทดลองต่างๆ สิ่งที่ทดลองเป็นแบบฝึกหัด ดนตรีไทยไม่ค่อยมีเอกเซอร์ไซส์ หรือเทคนิคพัฒนาฝีมือ ส่วนใหญ่ต่อเพลงไปเลย แต่เราหยิบจุดเด่นของแต่ละเพลงทำเป็นเอกเซอร์ไซส์ เหมือนนักบอลซ้อมยิงจุดโทษ เดาะบอล เลี้ยงลูก เราใช้หลักการสากลมาจับดนตรีไทย ให้มีแบบแผนมากขึ้น มีเบสิคที่ดี จึงเป็นจุดแตกต่างจากคนอื่น นำเทคนิคทั้งใหม่และเก่า พัฒนาเป็นใหม่ใส่ในบทเพลงนั้น เมโลดี้ธรรมดาใส่เทคนิคเข้าไป ทำให้มันขยายเมโลดี้ ให้เพลงมีมิติมากขึ้น เหมือนใช้สีเดิม แต่ไล่ระดับสีเข้มไปหาอ่อน เป็นความเข้มของดนตรี"

ท้ายสุดต้นตระกูล ได้ฝากเชิญชวนให้เยาวชนทั่วไทยตื่นตัว มาค้นหาโอกาส ประสบการณ์จากการเข้าประกวด SET เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะน้องๆที่ชอบดนตรีพื้นบ้าน งานนี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุด เพราะรับทุกประเภทดนตรีที่ไม่ใช้ไฟฟ้า แหวกแนว ไร้พรมแดน แม้ว่าโจทย์แต่ละปีค่อนข้างยาก แต่ก็ท้าทายสุด ๆ

"การหาสิ่งสุดยอดแต่ละปีมันยาก ขอบคุณดุริยางคศิลป์ และ อ.สุกรี เจริญสุข ที่มองเห็น ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก SETเยาวชนดนตรี และวิทยาลัยให้โอกาสสนับสนุนดนตรีพื้นบ้าน ถือว่าเริ่มต้นมาได้ดี"

ประกวด SET เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

จัดต่อเนื่องมายี่สิบปีแล้ว โดยนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ดนตรีมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มคุณภาพชีวิต ตลท. จึงให้การส่งเสริมดนตรีซึ่งเป็นภาษาสากลที่สามารถเข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย และคนทุกสถานะ ซึ่งน้องต้นตระกูลเป็นหนึ่งในตัวอย่าง ที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าและจุดเด่นของโครงการ อันเป็นจุดตั้งต้นสร้างเยาวชนให้ก้าวเข้าสู่ความสำเร็จ ทั้งในระดับประเทศ ระดับเอเชีย และระดับนานาชาติ ขอให้เยาวชนได้ใช้โอกาสนี้ให้เต็มที่

การประกวด SET เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย เปิดกว้างรับเครื่องดนตรีทุกชนิดประเภทเครื่องดนตรีที่ไม่ใช้ไฟฟ้า รวมทั้งการขับร้อง มี4 ระดับ ได้แก่ ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอุดมศึกษา ชิงรางวัลเกียรติบัตรและทุนการศึกษา รวมมูลค่ารางวัลทั้งสิ้นกว่า 1.8 ล้านบาทโดยผู้ได้รับรางวัลเหรียญทอง จะได้รับทุนการศึกษาด้านดนตรีที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการเพิ่มเติม และยังมีรางวัลสำหรับครูผู้ฝึกสอนที่ลูกศิษย์เข้ารอบชิงชนะเลิศอีกด้วย เยาวชนผู้สนใจสามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 กันยายน 2560 โดยจะเริ่มแข่งขันรอบรองชนะเลิศวันที่ 25-26 พฤศจิกายน และชิงชนะเลิศในวันที่ 17 ธันวาคม 2560 โดยดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.music.mahidol.ac.th หรือสอบถามโทร 0-2800-2525 ต่อ 3117, 3109

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ