นพ.สุทัศน์ คันติโต แพทย์สถาบันหัวใจและหลอดเลือด รพ.พระรามเก้า บอกว่า การเกิดโรคหัวใจในภายหลังนั้นมีหลายสาเหตุ เช่น โรคหัวใจรูห์มาติก ที่เกิดจากไข้รูห์มาติก ทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว หรือ ตีบได้ ส่วนใหญ่จะพบในช่วงวัยเรียน โรคคาวาซากิ พบมากในเด็กเล็ก อาจทำให้มีเส้นเลือดหัวใจโคโรนารีโป่งพอง โรคลิ้นหัวใจจากการติดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียเกือบทุกชนิดอาจเป็นสาเหตุของการอักเสบของลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจรั่วรุนแรงได้ นอกจากนี้ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่เด็กสามารถเป็นได้เช่นกัน อาจเกิดจากเชื้อไวรัสที่นำไปสู่การอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งในบางรายมีภาวะหัวใจวายอย่างเฉียบพลัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ เต้นช้า หรือเร็วเกินไป แต่ที่พบส่วนใหญ่ในเด็กจะเป็นชนิดเต้นเร็วผิดปกติ มักมีอาการเป็นๆ หายๆ และอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายและอาจจะนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในที่สุด
ดังนั้น สัญญาณเตือนภัยที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องหมั่นสังเกต ประกอบไปด้วย 5 อาการหลัก คือ 1. หายใจหอบเหนื่อย 2.เล็บและปากเขียว 3.ใจสั่น หน้ามืด หรือเป็นลมบ่อยครั้ง ซึ่งอาจจะเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ 4.อาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาการเจ็บหน้าอก (ในเด็กจะพบลักษณะนี้ไม่มากเท่าผู้ใหญ่ อาการเจ็บหน้าอกในเด็กมีส่วนน้อยเท่านั้น ที่เกิดจากโรคหัวใจ) และ 5. แพทย์ตรวจพบว่า มีเสียงหัวใจผิดปกติ ซึ่งอาจจะแสดงอาการหรือไม่แสดงอาการก็ได้ จะเห็นได้ว่า สัญญาณเตือนภัยและอาการข้างต้นที่กล่าวมาแล้วนั้น เด็กที่เป็นโรคหัวใจ จะส่งผลต่อการพัฒนาการของเด็ก การเจริญเติบโตช้าไม่ทันในช่วงเด็กในวัยเดียวกัน เหนื่อยง่าย ส่วนสูงและน้ำหนักไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครอง จึงเป็นตัวช่วยที่สำคัญที่จะสามารถช่วยลูกน้อย ห่างไกลจากโรคหัวใจในเด็กได้ ซึ่งหากมีลักษณะอาการแสดงข้างต้นนั้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจเช็คสุขภาพร่างกาย หรือ ควรตรวจสุขภาพกับกุมารแพทย์เป็นประจำทุกปี เพื่อให้ลูกน้อยห่างไกลจากภัยเงียบของโรคหัวใจนั้นได้