มรภ.สงขลา ปลุกพลัง นศ. ขับเคลื่อน ศก.พอเพียง

พฤหัส ๒๘ กันยายน ๒๐๑๗ ๑๔:๒๐
มรภ.สงขลา จับมือมูลนิธิรากแก้วร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ดึงพลังคนรุ่นใหม่สร้างกิจกรรมพัฒนาท้องถิ่น สืบสานแนวพระราชดำริในหลวง ร.9 เล็งต่อยอดโครงการพัฒนา-แก้ปัญหาชุมชนยั่งยืน

น.ส.จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์การพัฒนานักศึกษาและคุณลักษณะบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนพร้อมด้วยตัวแทนนักศึกษา มรภ.สงขลา เข้าร่วมงานมหกรรมพลังนิสิตนักศึกษาขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จัดโดยมูลนิธิรากแก้ว ในเครือมูลนิธิปิดทองหลังพระ ในการสืบสานแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานให้แก่ประชาชนชาวไทย โดยนำศาสตร์พระราชาผสานกับความรู้ทางทฤษฎีและภูมิปัญญาท้องถิ่น ไปประยุกต์ใช้ดำเนินโครงการพัฒนา เพื่อให้เกิดการต่อยอดและสร้างประโยชน์แก่ชุมชน โดยเฉพาะนักศึกษาซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยขับเคลื่อนงานในส่วนนี้ได้ ทั้งยังสนองนโยบายรัฐบาลตามแผนยุทธศาสตร์บูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (พ.ศ.2557-2560) สำหรับเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตของประชาชนทุกระดับ โดยสถาบันการศึกษาเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้นำความรู้และพลังนักศึกษามาร่วมแก้ไขปัญหาตามความต้องการอย่างแท้จริง ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ ร่วมกันขับเคลื่อนทั้งในด้านองค์ความรู้ การพัฒนาพื้นที่ในชุมชน โดยจะผลักดันให้นักศึกษาเริ่มขับเคลื่อนในพื้นที่ชุมชนรอบมหาวิทยาลัยก่อนเป็นอับดับแรก ซึ่งตรงกับปรัชญาของ มรภ.สงขลา ที่ว่า สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

ด้าน นายจักรกฤษ เลิศลับ นักศึกษาปี 3 โปรแกรมวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวว่า จากการเข้าร่วมงานดังกล่าวทำให้ตนเห็นถึงพลังของนักศึกษา ที่ต้องการสืบสานแนวพระราชดำริ และสนับสนุนการเรียนรู้ เสริมสร้างทักษะให้เยาวชนมีความเป็นผู้นำที่มีจิตอาสา เป็นเยาวชนที่มีคุณภาพ เข้าใจปัญหาของสังคม และสามารถทำงานร่วมกับทุกฝ่าย เพื่อพัฒนาชุมชนและประเทศอย่างยั่งยืน แม้ มรภ.สงขลา จะเป็นเครือข่ายเล็กๆ แต่ก็มีส่วนสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น ขอบคุณกองพัฒนานักศึกษาที่ให้โอกาสตนได้เข้าร่วมกิจกรรมกับมูลนิธิรากแก้ว ทำให้ได้รับฟังการดำเนินงานในระยะแรกที่เกิดผลสำเร็จแล้ว โดยเฉพาะจากเพื่อนนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมและมาบอกเล่าประสบการณ์ พร้อมตั้งคำถามชวนคิดว่า 4 ปีของมหาวิทยาลัยคุณได้อะไรมากกว่าใบปริญญา ทำให้ตนและเพื่อนๆ ได้แนวคิดถึงกิจกรรมที่จะทำในมหาวิทยาลัยต่อหลังจากนี้

นายวรวัฒน์ รอดพิบัติ นักศึกษาปี 4 โปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะครุศาสตร์ กล่าวบ้างว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า "เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป" ดังนั้น เมื่อตนได้เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินรอยตามพระองค์ท่าน จึงรู้สึกดีใจและภูมิใจมาก ซึ่งในการดำเนินงานนั้นมหาวิทยาลัยถือเป็นตัวหลักในการพัฒนาพื้นที่ ด้วยการนำศาสตร์มาผนวกกับศิลป์ คิดวางแผนพัฒนาด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนและช่วยให้ประชาชาสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยใช้กระบวนการทำงาน 4 ขั้นตอน คือ เตรียมการ วางแผน ปฏิบัติงาน และ ติดตามผล ภายใต้คอนเซ็ปต์ระเบิดจากข้างใน มีขอบเขตพื้นที่ชัดเจน พัฒนาทุกมิติ ซึ่งจากการดูงานครั้งนี้มีหลายมหาวิทยาลัยที่ดำเนินโครงการดังกล่าว เล่าว่าเขาไปอยู่อาศัยกับชาวบ้านในการศึกษาข้อมูลโดยเรียนรู้ร่วมกับชุมชน เพราะชุมชนเปรียบเสมือนครูคนหนึ่งที่สอนเขาในหลายๆ อย่าง ทำให้เข้าใจปัญหามากขึ้น และลุกขึ้นสู้กับปัญหาเพื่อให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ขึ้น โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวขับเคลื่อน

ขณะที่ นายธิติ ธนโสภณพิทักษ์ นักศึกษาปี 2 โปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดประสงค์ของงานในครั้งนี้คือสืบสานแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 และสนับสนุนการเรียนรู้ เสริมสร้างทักษะให้เยาวชนมีความเป็นผู้นำที่มีจิตใจอาสา พร้อมทั้งนำเสนอผลการดำเนินงานของ 4 สถาบันการศึกษาที่นำร่องโครงการไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหิดล และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งทำงานร่วมกับชาวบ้าน ไปนอน ไปกิน และช่วยพัฒนาชุมชนให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งยังนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปถ่ายทอดให้กับชาวบ้าน ทำให้พวกตนที่ได้เข้าร่วมประชุมเห็นตรงกันว่าในส่วนของนักศึกษา มรภ.สงขลา สมควรมีกิจกรรมเพื่อสานต่อพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน โดยดำเนินการอย่างสอดคล้องกับบริบทและสภาพปัญหาของท้องถิ่น

ปิดท้ายด้วย นายนัฐนนท์ พรหมอินทร์ นักศึกษาปี 3 โปรแกรมวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ กล่าวว่า การเข้าร่วมงานนี้ทำให้ตนได้รับแนวคิดพื้นฐานในการดำเนินโครงการ โดยบูรณาการการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบไปด้วย หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาเชิงพื้นที่ตามแนวพระราชดำริ การพัฒนาตามลำดับขั้นตอน บูรณาการจากหน่วยงานอื่นๆ การจัดการความรู้เละพัฒนาคน ซึ่งต้องขอขอบคุณมูลนิธิรากแก้วที่จัดงานนี้ขึ้นมา ตนจะนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ในมหาวิทยาลัย อาจจัดขึ้นในรูปแบบของการอบรมให้ความรู้แก่นักศึกษา เกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ และนำนักศึกษาลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ที่เป็นปัญหา เก็บข้อมูล นำมาวิเคราะห์ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๘:๑๗ เขตป้อมปราบฯ กวดขันดูแลความปลอดภัย-จอดรถกีดขวางทางสัญจรรอบงานวัดภูเขาทอง
๐๘:๔๕ คณะผู้แทนไทย สรุปความก้าวหน้า 10 ประเด็นการเจรจา COP29 ช่วงสัปดาห์แรก เตรียมพร้อมก่อนการประชุม High-level
๐๘:๓๐ เมื่อโลกของสื่อ.ต้องพลิกโฉมด้วยพลัง AI ไทยพีบีเอสชวนส่องอนาคตสื่อในงาน AI Horizons: The Future of Media
๐๘:๕๙ ต้อนรับการกลับมาอีกครั้งของร้าน Madison Steak Avenue
๐๘:๐๙ อาจารย์และศิษย์เก่าวิทยาลัยดุสิตธานี เป็นตัวแทนไทยเข้าแข่งขัน Global Chef Challenge Final 2024 ที่สิงคโปร์
๐๘:๔๙ ฉลองเปิด SIN Rooftop Bar
๐๘:๒๘ กทม. เน้นย้ำการปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล-เฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคไอกรนในสถานศึกษา
๐๘:๔๙ กทม. ขับเคลื่อนแผนป้องกันฝุ่น PM2.5 - ตรวจสอบสถานประกอบกิจการ-แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ
๐๘:๑๖ เฮอร์บาไลฟ์ ปล่อยของ! ฟอร์มูล่า วัน ซีเล็คท์ โปรตีนจากพืชใหม่ล่าสุด ตอบโจทย์คนรักสุขภาพยุคใหม่
๐๘:๓๓ อำพลฟูดส์ ร่วมส่งเสริมทักษะประกอบอาชีพผู้พิการจังหวัดราชบุรี หวังสร้างรายได้ให้ผู้พิการ และยกระดับคุณภาพชีวิตในท้องถิ่นอย่างเท่าเทียม