ประกายระยิบระยับของภูเขาเกลือขนาดย่อมที่เรียงรายสุดลูกหูลูกตา บ่งบอกให้รู้ว่าความอดทนตรากตรำสู้ฟ้าสู้ดินตลอดหลายเดือนได้สิ้นสุดลงแล้ว หลังจากนี้เหลือเพียงการส่งผลผลิตสู่มือผู้บริโภค เพื่อนำเงินกลับมาใช้จ่ายในครอบครัวและเป็นต้นทุนสำหรับการทำ "นาเกลือ" เมื่อฤดูกาลที่เหมาะสมเวียนมาถึงครั้งต่อไป
กระบวนการทำนาเกลือในความเข้าใจของใครหลายคนอาจเป็นเพียงการวิดน้ำเข้าผืนนาแล้วรอแสงแดดแผดเผาจนเกิดผลึกเกลือ ทั้งที่ความจริงแล้ว กว่าจะเป็นเกลือสมุทรพร้อมรับประทาน ชาวนาเกลือต้องเตรียมพื้นที่ทำนา ปรับหน้าดิน คอยเปลี่ยนถ่ายน้ำให้มีสภาพเหมาะสมต่อการเกิดเกลือ ต้องดูทิศฟ้าทางลมว่าเมื่อไรจะเกิดฝน และเฝ้าระวังไม่ให้น้ำจืดแทรกเข้ามาในนา ซึ่งแต่ละขั้นตอนล้วนเป็นภูมิปัญญาจากความชำนาญของชาวนาเกลือที่พยายามเคี่ยวกรำฝึกฝนด้วยความพยายามนับหลายปี ทว่าปัจจุบันพื้นที่นาเกลือสมุทรกลับลดน้อยลง โดยเฉพาะตลอดแนวถนนพระรามสอง ตั้งแต่จังหวัดสมุทรสาครจนถึงสมุทรสงคราม เพราะคนรุ่นใหม่หันไปทำอาชีพที่เขาคิดว่าเหนื่อยน้อยกว่าการตากแดดก้มหน้าทำนา ขณะที่ราคาที่ดินก็ปรับสูงขึ้นสวนทางกับราคาเกลือที่ลดลง จนดูไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนลงแรง
จิมมี่-ธีรเมศ เสือภูมี เยาวชนคนหนึ่งในจังหวัดสมุทรสงครามที่คลุกคลีกับนาเกลือมาตั้งแต่เกิด เพราะครอบครัวเป็นเจ้าของพื้นที่ให้เช่าทำนาเกลือ จิมมี่มักหยิบเรื่องราวของนาเกลือมาเป็นประเด็นการทำรายงานในห้องเรียนเสมอ กระทั่งเขากับเพื่อนๆ เข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ปี 1 และตัดสินใจจะนำนาเกลือมาเป็นโจทย์ทำงาน แต่การทำโครงการครั้งนี้ต่างจากการทำรายงานในห้องเรียน เพราะเงื่อนไขของโครงการกำหนดให้จิมมี่และเพื่อนๆ ต้องลงพื้นที่ไปพูดคุยกับชาวบ้านถึงความทุกข์ที่เผชิญ และค้นหาทุนที่มีในชุมชน จนเกิดเป็น "โครงการปลุกพลัง...ฅนรักษ์นาเกลือ" ที่เขาพาน้องๆ ในโรงเรียนไปทำความรู้จักกับนาเกลือจากปากชาวนาเกลือตัวจริงเสียงจริง และสัมผัสกับนาเกลืออย่างใกล้ชิด
แม้โครงการของจิมมี่และเพื่อนๆ จะเสร็จสิ้นไปเกือบ 3 ปีแล้ว แต่ความผูกพันที่เขามีต่อนาเกลือกลับไม่ได้จบลง เพราะการลงมือทำอย่างลึกซึ้ง ทำให้ได้รับรู้ปัญหาจริงที่เกิดกับชีวิตของชาวนาเกลือ จนจิมมี่อยากทำให้คนในสังคมได้รู้จักเกลือสมุทรมากขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญในการคงอยู่ของนาเกลือ
"หลังทำโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ จบ ความคิดความเข้าใจของเราเปลี่ยนแปลงไปมาก จากเมื่อก่อนมีแค่เพื่อน ครู และห้องเรียน เพราะกระบวนการทำโครงการทำให้เราต้องคลุกคลีกับนาเกลือ กับชุมชน จนเห็นแง่มุมที่ไม่เคยเห็น อย่างคนทำนาเกลือบางคนอาจไม่ได้มีการศึกษาสูง ไม่รู้ในวิชาการที่เราเรียน ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะด้อยกว่าเรา เพราะเขารู้เรื่องนาเกลือ เรื่องวิถีความเป็นอยู่ของตัวเองเป็นอย่างดี จากการทำมาตั้งแต่เด็ก อายุ 10 กว่าขวบก็เดินตามพ่อแม่ไปนาเกลือแล้ว หลังจากนั้นก็ทำต่อพ่อแม่อีก ทำจนเป็นทั้งชีวิตของเขา ถึงขนาดดูลักษณะน้ำแล้วบอกได้ว่า ถ้าน้ำเป็นแบบนี้ อีกประเดี๋ยวฝนต้องตก มองท้องฟ้าเห็นนกบินวนแบบนั้น ไม่วันนี้ก็พรุ่งนี้ฝนต้องตก เอาข้าวสารโปรยลงไปก็รู้ว่าเป็นเวลาที่ต้องนำเกลือขึ้น นี่เลยเป็นสาเหตุเด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ทำนาเกลือไม่ทนด้วย เพราะมาเริ่มทำตอนอายุ 20 กว่าปีแล้ว
"ขณะเดียวกันเราก็เข้ากับคนในชุมชนได้ดีขึ้นมาก จากเดิมอยู่แต่ในหมู่บ้านตัวเองก็ต้องไปพูดคุยทำความรู้จัก ผูกสัมพันธ์กับหมู่บ้านอื่น เพื่อขอข้อมูลและเตรียมจัดกิจกรรมในโครงการ จนสนิทสนมกัน กระทั่งเข้าไปรับรู้ปัญหาหลายอย่างของเขา เช่น รู้ว่าเขาขายนาเกลือให้ใคร ใครเป็นคนรับซื้อ รู้แม้แต่ปัญหาในบ้านของเขา บางคนไม่อยากขายนาเกลือหรอก แต่เขามีลูกหลายคน จะแบ่งที่ดินให้ก็ไม่ได้ เพราะการทำนาเกลือต้องใช้ที่อย่างน้อย 25 ไร่ ถึงจะคุ้มทุน และสิ่งที่น่าเจ็บใจที่สุดคือ พอขายที่แล้วกลับต้องมาเช่าที่นาของตัวเองเพื่อทำนาในราคาสูงด้วย"
หลังเรียนจบจากโรงเรียนถาวรานุกูล แล้วเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา ในคณะครุศาสตร์ ภาควิชาสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จิมมี่ยังคงหยิบประเด็นนาเกลือมาบูรณาการกับการเรียนวิชาต่างๆ จนดูเหมือนว่าเขาอาจมีเรื่องนาเกลืออยู่ในความคิดตลอดเวลา
"พอเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัย เรารีบนำเสนอเรื่องการทำงานในโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ให้อาจารย์รู้ก่อนเลย เผื่อเขาจะสนับสนุนให้เราทำงานเกี่ยวกับนาเกลือ ซึ่งปรากฏว่าอาจารย์สนับสนุนเราเต็มที่มาก ท่านบอกว่าเรามีต้นทุนที่ดีอยู่แล้ว กับการลงพื้นที่ ไปทำงานกับชุมชนเป็นปีๆ ต่างจากการทำรายงานอื่นที่รู้แค่ข้อมูลในหนังสือ แต่นี่เราฟังจากปากชาวบ้านด้วย เมื่อนำหนังสือวิชาการมาประกอบกัน เราก็ได้ความรู้ที่สมบูรณ์จากทุกแง่มุม"
สำหรับการนำองค์ความรู้เรื่องนาเกลือมาปรับใช้กับวิชาเรียน จิมมี่เลือกแง่มุมที่เหมาะสมกับวิชาเรียนนั้น เช่น วิชาท้องถิ่นศึกษา การทำวิจัยที่เลือกเรื่องการเปลี่ยนแปลงแบบพลวัตรของการทำนาเกลือสมุทรสงคราม วิชาจริยศาสตร์ที่ทำเกี่ยวกับความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมของคนทำนาเกลือที่จิมมี่บอกว่ามีความคล้ายคลึงกับคนทำนาข้าว แต่หลายคนไม่รู้ ทำให้เห็นว่านาเกลือที่หลายคนเคยรู้จักแค่ผืนนาที่เต็มไปด้วยน้ำทะเล หรือกองเกลือสีขาว มีมิติหลากหลายกว่านั้น และจิมมี่คือคนหนึ่งที่มองเห็น
สิ่งที่จิมมี่อยากทำต่อจากนี้ คือการตอบแทนชุมชนที่เป็นแหล่งความรู้เรื่องนาเกลือแก่เขามาตลอด โดยการรวบรวมศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับนาเกลือที่มีอยู่ในจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อนำเสนอของดีชุมชนให้คนภายนอกรับรู้ พร้อมสร้างความตระหนักและสำนึกรักนาเกลือให้คนรุ่นใหม่ด้วย ที่มากกว่านั้นคือ จิมมี่ฝันอยากกลับมาเป็นครูในบ้านเกิดที่พานักเรียนเข้าไปเรียนรู้ชุมชน ทำงานกับชุมชน เพื่อสร้างประสบการณ์จากการสัมผัสของจริงจากของดีที่มีในท้องถิ่น เช่นเดียวกับที่เขาเคยได้รับจากครูของเขา
การทำงานที่มุ่งมั่นของจิมมี่เป็นบทสะท้อนความมุมานะ (Grit) ของคนๆ หนึ่ง ที่เติบโตขึ้นจากการสนับสนุนของปัจจัยภายนอกทั้งการส่งเสริมจากคุณครูในโรงเรียน และการเปิดพื้นที่ของของผู้ใหญ่ใจดีอย่างโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ และปัจจัยจากภายในของจิมมี่ที่เลือกลงมือทำเรื่องนาเกลืออย่างต่อเนื่อง กระทั่งค้นพบคุณค่าของการช่วยรักษาภูมิปัญญาบ้านเกิด ซึ่งตรงกับความเชื่อของเขาเองที่มองว่าการเป็นลูกหลานชาวนาเกลือคือต้นทุนชีวิตที่ดี จนเกิดความรักความชอบ (Passion) ควบคู่กับความพยายาม (Perseverance) ที่จะถ่ายทอดคุณค่าและสร้างความตระหนักเรื่องนาเกลือให้เป็นที่รับรู้ในสังคมวงกว้าง
การเดินทางบนเรื่องราวนาเกลือตลอดระยะเวลาหลายปีของจิมมี่ อาจเปรียบได้กับน้ำทะเลที่อาจไม่มีใครนำมาดื่มกิน แต่เมื่อผ่านความเพียรพยายามอดทนลงมือทำ และได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้าง ดั่งชาวนาเกลือที่คอยควบคุมน้ำ ปรับพื้นที่สังเกตทิศทางฝน น้ำเค็มก็ตกผลึกกลายเป็นเกลือที่สร้างสารพัดประโยชน์ต่อผู้คนมากมาย