1. ด้านความมั่นคงทางอาหาร เห็นชอบแนวนโยบายว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการของอาเซียน เพื่อเป็นกรอบให้อาเซียนร่วมมือกันเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ และมีการบูรณาการในภูมิภาค
2. ด้านความปลอดภัยอาหารและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เห็นชอบมาตรฐานสินค้าเกษตรเพิ่มอีก 11 ชนิด คือ มาตรฐานพืชสวนอาเซียน เพิ่มเติมอีก 4 ชนิด คือ ข้าวโพดฝักอ่อน ถั่วแขก เห็ดหูหนู และมันเทศ และการกำหนดค่าสารพิษตกค้างสงสุดของอาเซียนเพิ่มเติม 7 ชนิด ในเมลอน (2 ค่า) แก้วมังกร (2 ค่า) มะเขือยาว (1 ค่า) และมะม่วง (2 ค่า) รวมทั้งการจัดทำคู่มือมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของอาเซียน
3. ด้านป่าไม้ เห็นชอบหลักเกณฑ์และตัวชี้วัดของอาเซียนที่มีการแก้ไขเพื่อการจัดการป่าไม้เขตร้อนอย่างยั่งยืน
และ 4. ด้านประมง เห็นชอบแผนงานใบรับรองการจับสัตว์น้ำทะเลของอาเซียน เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการบริหารจัดการประมงทะเล เพื่อส่งเสริมการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์เพื่อการค้าทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค และป้องกันสินค้าประมง IUU เข้าสู่สายการผลิตของประเทศสมาชิกอาเซียน
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบคณะทำงานเฉพาะกิจด้านประมงอาเซียนดำเนินการจัดประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจ ภายในต้นปี 2561 ณ ประเทศไทย เพื่อเร่งรัดการจัดทำนโยบายประมงอาเซียน รวมถึงเห็นชอบให้จัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ครั้งที่ 40 และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้กับรัฐมนตรีของจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 18 ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในปี 2561 อีกด้วย
สำหรับผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนฯ กับประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ หรืออาเซียนบวกสาม ที่ประชุมเห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมืออาเซียนบวกสามด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ ปี 2559-2568 เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกันด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารและยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการพัฒนาภาคการเกษตรและป่าไม้อย่างยั่งยืน ส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและป่าไม้ โดยกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือฉบับใหม่จะช่วยส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียน ปี 2568 และส่งเสริมความร่วมมืออาเซียนบวกสามในสาขาที่มีการจัดลำดับความสำคัญและเป็นประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ใช้โอกาสนี้ในการเผยแพร่ศาสตร์พระราชาผ่านนิทรรศการ และการศึกษาดูงาน ประกอบด้วย 1. โมเดลจำลองการเกษตรในประเทศไทย มีจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เริ่มจากต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ 2. การเกษตรผสมผสาน และเกษตรทางเลือก เพื่อความยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อยในชนบท โดยมีหลักการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 3. "เกษตรวิชญา" พระราชดำริของ ร.10 ที่ทรงพระราชทานที่ดินให้ สปก.นำไปพัฒนาเป็นศูนย์บริการและคลินิกเกษตร เป็นแหล่งถ่ายทอดเทคโนโลยีในการประกอบอาชีพให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน และ 4. ศึกษาดูงาน ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ พลิกฟื้นจากสภาพป่าเต็งรังที่เสื่อมโทรมให้เป็นพื้นที่ต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ให้เป็นศูนย์กลางทำการศึกษา ทดลอง วิจัย หารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคเหนือ และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ โดยมีการวางแผนการผลิตและตลาด