ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อกิจกรรมการรับน้องของสถาบันการศึกษา ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22 ถึง 26 กันยายน พ.ศ. 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,205 คน
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า กิจกรรมการรับน้องถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่มีการจัดขึ้นในช่วงเปิดภาคเรียนของปีการศึกษาในสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาแทบทุกแห่ง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่รุ่นพี่ในชั้นปีที่สูงกว่าจัดให้กับนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งโดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของผู้บริหารและอาจารย์ในสถาบันการศึกษา ทั้งนี้การจัดกิจกรรมการรับน้องมีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องให้ได้ทำความรู้จักกันและเพื่อเป็นการให้ข้อมูลความรู้คำแนะนำกับนักศึกษาใหม่ในการเรียนและการปฏิบัติตนระหว่างเรียนอยู่ในสถาบันนั้นๆ รวมถึงเพื่อเป็นการสร้างความสามัคคีและรู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งการจัดกิจกรรมรับน้องจะมีทั้งส่วนที่เป็นการให้ข้อมูลความรู้คำแนะนำตอบข้อสงสัยต่างๆและในส่วนที่เป็นกิจกรรมสร้างความสนุกสนานบันเทิง แต่อย่างไรก็ตามในการจัดกิจกรรมรับน้องทุกปีที่ผ่านมามักมีข่าวเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการรับน้องที่ไม่เหมาะสมต่างๆ เช่น กิจกรรมส่อไปในทางลามกอนาจาร กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดื่มของมึนเมา/เสพยาเสพย์ติด กิจกรรมการละเล่นแผลงต่างๆ/ความรุนแรงต่อร่างกาย เป็นต้น ปรากฏขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสถาบันการศึกษาต่างๆได้พยายามออกมาตรการควบคุมป้องกันแก้ไขเพื่อลดปัญหาการจัดกิจกรรมรับน้องที่ไม่เหมาะสม แต่ก็ยังคงมีข่าวเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการรับน้องที่ไม่เหมาะสมปรากฏอยู่เป็นระยะ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีผู้คนในสังคมบางส่วนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงมาตรการแก้ไขปัญหาว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่รวมถึงมีผู้คนอีกส่วนหนึ่งเสนอให้มีการยกเลิกการจัดกิจกรรมรับน้องไปเลย จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อกิจกรรมการรับน้องของสถาบันการศึกษา
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.46 และเพศชายร้อยละ 49.54 อายุ 15 ปีขึ้นไปสามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความคิดเห็นต่อการจัดกิจกรรมการรับน้อง กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.22 เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมรับน้องสำหรับนักเรียนนักศึกษาใหม่ของสถาบันการศึกษา ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 26.97 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.81 ไม่แน่ใจ สำหรับประโยชน์สำคัญสูงสุด 3 อันดับ ของการจัดกิจกรรมรับน้องตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างได้แก่ ได้มีโอกาสรู้จักเพื่อนใหม่คิดเป็นร้อยละ 83.9 ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเรียน/ข้อปฏิบัติต่างๆของสถาบันคิดเป็นร้อยละ 81.74 และได้พัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมคิดเป็นร้อยละ 79.42
เมื่อเปรียบเทียบความเหมาะสมของประเภทการจัดกิจกรรมการรับน้อง กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.33 มีความคิดเห็นว่าการจัดกิจกรรมที่เน้นการให้ความรู้/การบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะมีความเหมาะสมกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39.67 มีความคิดเห็นว่าการจัดกิจกรรมที่เน้นความสนุกสนานบันเทิง/การทำกิจกรรมแผลงต่างๆมีความเหมาะสมมากกว่า
ในด้านความรู้สึกเกี่ยวกับข่าวการจัดกิจกรรมรับน้องที่ไม่เหมาะสม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.61 มีความรู้สึกว่าข่าวเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมรับน้องที่ไม่เหมาะสม เช่น กิจกรรมส่อไปในทางลามกอนาจาร กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดื่มของมึนเมา/เสพยาเสพย์ติด กิจกรรมการละเล่นแผลงต่างๆ/ความรุนแรงต่อร่างกาย เป็นต้น ในปี พ.ศ. 2560 นี้มีพอๆกันกับในปีก่อนๆ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34.02 มีความรู้สึกว่าในปี พ.ศ. 2560 นี้มีมากกว่าปีก่อนๆ โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 12.37 รู้สึกว่ามีน้อยกว่าปีก่อนๆ
สำหรับสาเหตุสำคัญสูงสุด 3 อันดับที่ทำให้มีการจัดกิจกรรมรับน้องที่ไม่เหมาะสมคือ ความคึกคะนองตามวัยคิดเป็นร้อยละ 83.49 การลอกเลียนแบบจากรุ่นพี่คิดเป็นร้อยละ 81.66 และความเก็บกดจากที่เคยถูกกระทำโดยกิจกรรมแบบเดียวกันคิดเป็นร้อยละ 79.25 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 76.35 ระบุว่าต้องการสร้างสีสรร/ความสนุกสนาน ส่วนวิธีการที่จะช่วยลดปัญหาการจัดกิจกรรมรับน้องไม่เหมาะสมได้มากที่สุด 3 อันดับตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างได้แก่ ผู้บริหารดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจังคิดเป็นร้อยละ 84.56 ลงโทษกับรุ่นพี่ที่ทำกิจกรรมไม่เหมาะสมให้เด็ดขาดคิดเป็นร้อยละ 82.41 และต้องมีครูอาจารย์ลงชื่อรับผิดชอบในการจัดกิจกรรมคิดเป็นร้อยละ 78.09
ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวคิดการทำกิจกรรมรับน้องและการลงโทษผู้เกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมรับน้องที่ไม่เหมาะสมนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.71 ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่าการทำกิจกรรมการรับน้องที่เน้นการบังคับให้ทำตามคำสั่ง/การขู่ตะคอกสร้างความกดดันจะช่วยฝึกฝนให้นักเรียนนักศึกษากลายเป็นคนที่อยู่ในระเบียบวินัย/เผชิญความกดดันเมื่อเข้าสู่สังคมผู้ใหญ่ในอนาคตได้ ส่วนกลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.14 มีความคิดเห็นว่าการลงโทษกลุ่มรุ่นพี่ที่จัดกิจกรรมรับน้องที่ไม่เหมาะสมให้ถูกพักการเรียนนั้นเป็นบทลงโทษที่ไม่เกินกว่าเหต และกลุ่มตัวอย่างถึงสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.02 ไม่เห็นด้วยกับการที่สถาบันการศึกษาลงโทษนักเรียนนักศึกษาที่นำภาพ/คลิปวิดิโอการทำกิจกรรมรับน้องที่ไม่เหมาะสมมาเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้ อย่างไรก็ดีกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.8 ไม่เชื่อว่าปัญหาการทำกิจกรรมรับน้องไม่เหมาะสมจะได้รับการแก้ไขให้หมดไปจากสังคมไทยในอนาคตได้ ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว