ธุรกิจจะทำเพื่อสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล

ศุกร์ ๒๙ กันยายน ๒๐๑๗ ๑๗:๔๒
หากกล่าวถึงเรื่อง "ธุรกิจ" กับการทำ "เพื่อสังคม" อาจไม่น่าเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันได้ เพราะฝ่ายหนึ่งคือการทำงานสร้างเงินด้วยธุรกิจเพื่อตัวเอง ขณะที่อีกฝ่ายเป็นการเสียลสละเพื่อส่วนรวม โดยไม่ได้มองว่าตัวเองจะได้กำไรหรือขาดทุน แต่ถ้าเราสามารถสร้างทั้งรายได้แก่ตัวเองและเกิดประโยชน์แก่สังคมด้วยย่อมดีไม่น้อย

นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาทำ "ธุรกิจเพื่อสังคม" หรือ "Social Enterprise (SE)" โมเดลธุรกิจที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขช่องว่างระหว่างโลกการกุศลที่ต้องรอคอยเงินบริจาคจากแหล่งทุน และโลกของธุรกิจที่มีความสามารถในการหารายได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อทำประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือแก้ปัญหาสังคม ขณะเดียวกันก็สร้างรายได้ให้เจ้าของธุรกิจอยู่รอด มีเงินทุนมาต่อยอดทำสิ่งดีๆ ต่อไป

มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้ดำเนินงานพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่องเล็งเห็นว่าโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมอาจเป็นคำตอบหนึ่งที่จะยกระดับโครงการของเด็กและเยาวชนที่ทำไว้ให้ก้าวต่อเองได้อย่างยั่งยืน จึงชักชวนเยาวชนจากโครงการพัฒนาองค์กรระดับจังหวัดเพื่อสร้างพลเมือง เพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ (Active Citizen) และโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่เข้าร่วมอบรม "ค่ายพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการสังคม" โดยมีวิทยากรที่เป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมรุ่นใหม่จาก Ma:D Club for Better Society พื้นที่ที่ออกแบบมาเพื่อจัดกิจกรรมที่ให้แรงบันดาลใจแก่สังคม และสร้างความร่วมมือในเครือข่าย SE ให้แข็งแรง

คุณกิฟท์-ปรีห์กมล จันทรนิจกร Found&Managing Director Ma:D Club for Better Society เล่าถึงความคาดหวังของค่ายให้ฟังว่า

"เป้าหมายของค่ายนี้ไม่ได้คาดหวังว่าน้องจะออกไปเป็นผู้ประกอบการทางสังคมทันที แค่อยากให้รู้ว่าผู้ประกอบการเพื่อสังคมคืออะไร ถ้าจะทำธุรกิจต้องทำอะไรบ้าง มีความสร้างสรรค์อะไรที่สามารถนำมาเป็นเป้าหมายทางธุรกิจเพื่อช่วยพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยมีแบบฝึกหัดให้น้องลองคิดและตอบคำถามสำคัญ ซึ่งจะทำให้น้องรู้ชัดเจนเมื่อจบค่ายว่าการเป็นผู้ประกอบการที่ยั่งยืนในอนาคตมีแนวทางอย่างไร"

หลังการอบรมจบลง คุณกิฟท์บอกว่า น้องๆ แต่ละกลุ่มต้องกลับไปทำการบ้านต่อ เช่น วิเคราะห์กลุ่มลูกค้าให้ชัดเจนว่ามีมากน้อยแค่ไหน อยู่ในตลาดระดับใด และศึกษาชุมชนเพิ่มว่าโมเดลธุรกิจ SE เหมาะสมกับชุมชนของตัวเองไหม หรืออาจพัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชนก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของชุมชน โดยจะมีพี่เลี้ยงประจำกลุ่มที่มีความรู้ความสามารถด้านธุรกิจ SE ไปติดตามอย่างต่อเนื่องถึงพื้นที่ชุมชน

พิมพ์-พิมพ์จันทร์ ชอบชื่น โครงการเยาวชนเรียนรู้และอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าไหม บ้านขี้นาค อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้การทำธุรกิจ SEเพราะอยากทำให้ผ้าไหมของบ้านเกิดเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นด้วยประยุกต์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เล่าว่า

"ตอนแรกเราไม่รู้หรอกว่าธุรกิจเพื่อสังคมเป็นอย่างไร พอมาแล้วถึงได้รู้ว่ามีแบบนี้ด้วย ทำให้ได้เปิดมุมมองมากขึ้นว่าควรทำไปทางไหน จากที่คิดว่าจะทำผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม แต่คำนวณต้นทุนแล้วดูเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการทอผ้าไหมผืนหนึ่งมีต้นทุนสูง พี่เลี้ยงของกลุ่มเลยแนะนำว่าควรเปลี่ยนไปทำแนวทางอื่น โดยยึดเป้าหมายเรื่องการรักษาคุณค่าของผ้าไหมไว้ จึงอยากทำเป็นศูนย์เรียนรู้ ให้คนมาเรียนรู้กระบวนการว่ากว่าจะได้ผ้าไหมสวยๆ สักผืนต้องมีขั้นตอนอะไรบ้าง"

ขณะที่ อ้อม-อัญชนา ดีไสว จากโครงการพาน้องศึกษาและเรียนรู้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่น ตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม บอกว่าก่อนเข้าอบรมรู้เพียงว่าเป็น SE คือธุรกิจที่ทำเพื่อคนอื่น ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเอง จนเกิดคำถามในใจว่าทำไมต้องทำ ทำได้จริงไหม เพราะธุรกิจส่วนใหญ่ที่อ้อมเคยรู้จักล้วนทำเพื่อตัวเอง สร้างรายได้เข้าตัวเอง แต่หลังเข้าอบรมความคิดของอ้อมก็เปลี่ยนไป

"การทำธุรกิจเพื่อสังคมแทบไม่ต่างจากโครงการเพื่อชุมชนที่เราเคยทำ แต่ข้อดีคือนอกจากชุมชนได้ประโยชน์แล้ว เราเองก็สามารถอยู่ได้ด้วย"

อ้อมเล่าต่อว่า สิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากการอบรมครั้งนี้คือแง่คิดในการเริ่มต้นกิจการว่าต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน แต่เวลาทำจริงต้องพร้อมปรับเปลี่ยนแผนตามสถานการณ์ที่จะเข้ามา และได้เรียนรู้ว่าการทำธุรกิจไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยาก แค่ต้องกลับไปหาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจให้มากขึ้น เช่น ขนาดของตลาด ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยธุรกิจที่อ้อมอยากทำคือการท่องเที่ยวชุมชนที่ให้คนภายนอกเข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตและภูมิปัญญา เพื่อสร้างรายได้ให้ชาวบ้านอยู่ได้ ไม่ต้องทิ้งบ้านเกิดไปทำงานที่อื่น ซึ่งหลังจากนี้เมื่อกลับไปที่ชุมชน นอกจากหาความรู้เรื่อง SE เพิ่มแล้ว จะเริ่มชักชวนผู้ใหญ่ในชุมชนมาล้อมวงพูดคุยถึงแนวทางที่ชุมชนอยากทำและเป็นไปได้ด้วย

คุณกิฟท์กล่าวทิ้งท้ายถึงสิ่งสำคัญสำหรับผู้สนใจเข้ามาทำธุรกิจ SE ว่าต้อง "ชัดเจน" ในคุณค่าหลัก 2 ด้าน คือ 1.จะแก้ปัญหาหรือพัฒนาชุมชนสิ่งแวดล้อมของตัวเองอย่างไร 2.จะพัฒนาองค์กรตัวเองให้โตด้วยธุรกิจได้อย่างไร เพราะเมื่อธุรกิจมีเป้าหมายทางสังคมและอยู่ได้โตได้ แปลว่าผลทางสังคมที่อยากสร้างก็ย่อมแผ่ขยายออกไปนั่นเอง

คนรุ่นใหม่เป็นคนที่มีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ กล้าได้กล้าเสีย พร้อมจะลุยไปข้างหน้า หากได้รับการชี้แนะเรื่องการทำธุรกิจ SE เบื้องต้นให้รู้จักนำทุนทางสังคมในชุมชนมาสร้างธุรกิจที่ทำให้ตัวเองอยู่ได้และเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ย่อมเป็นแรงกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่อีกหลายคนอยากลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ แก่สังคมมากขึ้นแน่นอน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ ดร.เอ้ สุดยอดผู้นำด้าน AI เชื่อมั่น รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร จะปฏิวัติการแพทย์ไทย ด้วย AI พร้อมความตั้งใจอันแน่วแน่
๐๙:๐๓ รมว.นฤมล ผลักดันกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)
๐๙:๑๖ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ชวนร่วมบริจาคโลหิต 26 ธันวาคมนี้ ชั้น 7 โซน A เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต
๐๙:๔๗ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดเต็ม!! ลงพื้นที่เร่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างชีวิตแก่ชาวหนองคายอย่างยั่งยืน
๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย