กรมการพัฒนาชุมชนตระหนักถึงการอนุรักษ์และการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ในชุมชน และเกิดการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ของชุมชน รวมทั้งเล็งเห็นความสำคัญและศักยภาพของเยาวชนคน รุ่นใหม่ที่จะมาพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ในชุมชน จึงสนับสนุนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการถ่ายทอดประสบการณ์ของคนในชุมชนให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นทายาทผู้ผลิต ผู้ประกอบการโอทอป หรือเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจ และนำภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาเป็นทุนสำคัญในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ มีรายได้จากการผลิตสินค้าโอทอป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ในปี 2560 นี้ กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้จัดกิจกรรมประกวดคนรุ่นใหม่หัวใจโอทอป 2017 ขึ้น โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้าร่วมประกวดครั้งนี้ ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่า 300,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ และประกาศนียบัตร ซึ่งมีทายาทของผู้ประกอบการโอทอป และเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมกิจกรรมการประกวดเป็นจำนวนมาก..
การประกวดรอบคัดเลือกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 - 12 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา มีผู้ผ่านเข้าสู่รอบ ชิงชนะเลิศจำนวน 20 ท่าน และรอบชิงชนะเลิศจัดขึ้นในวันที่ 13 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ผลการประกวดดังนี้
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ น.ส.นิฮาลีม๊ะ หะยีอาแว จ.นราธิวาส ชื่อผลิตภัณฑ์ ผ้าบาติกงานเพ้นท์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายเมธารัตน์ คำพิมาน จ.อุดรธานี ชื่อผลิตภัณฑ์
เสื้อผ้าสำเร็จรูป
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ว่าที่ ร.ต.หญิง ชิดชนก กองสุวรรณ ชื่อผลิตภัณฑ์ Monstersin the Egg : ผู้พิทักษ์จากหิมพานต์
และรางวัลชมเชย จำนวน 17 รางวัล
วันนี้ (20 กันยายน 2560) กรมพัฒนาชุมชนจึงได้จัดพิธีมอบรางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติผู้ที่ชนะการประกวด "คนรุ่นใหม่หัวใจโอทอป 2017" ขึ้น สำหรับผู้ที่ชนะการประกวดในครั้งนี้ นอกจากจะได้เงินรางวัล พร้อมโล่รางวัล และประกาศนียบัตรแล้ว ยังมีโอกาสเข้าร่วมเดินทางไปดูงานกับกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อสร้างประสบการณ์ เสริมการเรียนรู้ และยกระดับธุรกิจในยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 20-22 กันยายน 2560
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชนมุ่งหวังที่จะ 1) ค้นหาเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และมีศักยภาพก้าวเป็นผู้ประกอบการโอทอป 2) เพื่อเชิดชู ยกย่องเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจในการอนุรักษ์ และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น 3) พัฒนาขีดความสามารถของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผ่านการอบรมให้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นผู้ประกอบการในยุคไทยแลนด์ 4.0 4) ประชาสัมพันธ์ผลงานการคิดค้น ต่อยอด จากภูมิปัญญาท้องถิ่นจนเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนได้ อีกทั้งยังเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์สินค้าของเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เป็นที่รู้จักทั่วประเทศอีกด้วย