เอกอัครราชทูต อดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ที่ปรึกษาพิเศษ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อาชญากรรมที่เกิดจากการท่องเที่ยวเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก เป็นประเด็นที่มีความท้าทายและมีความเกี่ยวเนื่องกับมิติต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมในวงกว้าง ครอบคลุมถึงการคุ้มครองเยียวยาเด็กในฐานะผู้เสียหาย ความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในประเทศและระหว่างประเทศในการป้องกัน จับกุม ปราบปราม และลงโทษผู้กระทำความผิด ตลอดจนการแสวงหาผลประโยชน์โดยใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ การอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในประเด็นของการกำหนดแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้ผู้ที่เข้ารับการอบรมทั้งในระดับนโยบายและผู้ปฏิบัติงาน ในฐานะตัวแทนจากหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย ให้ตระหนักถึงความสำคัญ ของการบูรณาการและผสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ให้มีความพร้อมในการรับมือกับอาชญากรรมต่อเด็กที่มีความซับซ้อนอย่างมีประสิทธิภาพ
"การสนับสนุนพัฒนาการของกระบวนการยุติธรรมของไทยให้สอดคล้องกับหลักการและมาตรฐานระดับนานาชาติ โดยเฉพาะการส่งเสริมหลักนิติธรรม รวมถึงการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มเปราะบางทั้งผู้หญิงและเด็ก ทั้งในฐานะผู้เสียหาย พยาน และผู้กระทำความผิด เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักในการดำเนินงานของ TIJ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านยุทธศาสตร์ต้นแบบสหประชาชาติว่าด้วยการยุติความรุนแรงต่อเด็ก หรือ United Nations Model Strategies and Practical Measures on the Elimination of Violence against Children in the Field of Crime Prevention and Criminal Justice ซึ่งในประเด็นการคุ้มครองเด็กในฐานะของผู้เสียหาย TIJ ได้ให้ความสำคัญกับการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กในมิติของการท่องเที่ยวเพื่อมีเพศสัมพันธ์เป็นประเด็นหลัก" เอกอัครราชทูต อดิศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม
ร้อยตำรวจเอก เขมชาติ ประกายหงษ์มณี รองผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศปลายทาง ที่อาชญากรที่มุ่งทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กและการแสวงหาประโยชน์จากสื่อลามกอนาจารเด็กเข้ามาพำนักและกระทำความผิด ซึ่งทำให้ยากต่อการสืบสวนและติดตามเนื่องจากผู้กระทำความผิดอาศัยความเปราะบางของเด็ก ทั้งด้านวัยวุฒิ ความด้อยโอกาส ความสามารถทางการสื่อสารภาษา และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในการปิดบังซ่อนเร้นการกระทำความผิด การร่วมมือกับ TIJ ในการจัดหลักสูตรและจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อต่อต้านการละเมิดทางเพศเด็กในกิจการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นช่องทางสำคัญในการกระทำความผิด จึงเป็นการมุ่งแก้ไขประเด็นปัญหาที่ถือว่าเป็นการดำเนินงานภายใต้การบูรณาการได้อย่างครบทุกมิติ ทั้งในแง่ของความร่วมมือระหว่างองค์กรทางกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องและวิธีการดำเนินงานที่สอดคล้องกันในแต่ละส่วนงานเป็นครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน
"สิ่งสำคัญนอกเหนือจากการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะการทำงานแล้ว ผู้เข้าอบรมยังจะสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างการทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กกับสื่อลามกอนาจารเด็ก ผลกระทบและความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นกับเด็กผู้เสียหาย กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เทคโนโลยีที่ใช้ในการหาข้อมูลอาชญากรรม การรวบรวม/วิเคราะห์ และการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทางเทคโนโลยี การประสานและการดำเนินคดีแบบคู่ขนานกับประเทศต้นทางของผู้กระทำความผิด ตลอดจนระบบฐานข้อมูลและแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสืบสวนคดี ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมเป็นไปได้ด้วยความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และสามารถช่วยเหลือเด็กที่อาจตกเป็นผู้เสียหายได้ในทุกขั้นตอน รวมถึงการเยียวยาหลังคดีความสิ้นสุดลง ซึ่งในปัจจุบันขั้นตอนการเยียวยานี้ยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร" ร้อยตำรวจเอก เขมชาติ กล่าว
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนการเสริมสร้างขีดความสามารถในการต่อต้านอาชญากรรมต่อเด็กครั้งนี้ เป็นการต่อยอดมาจากโครงการวิจัย "การศึกษารูปแบบและวิวัฒนาการของการท่องเที่ยวเพื่อมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก และการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศเชิงประจักษ์ ในการต่อต้านการท่องเที่ยวเพื่อมีเพศสัมพันธ์กับเด็กของสามประเทศในกลุ่มอาเซียน" ได้แก่ประเทศไทย ลาว และกัมพูชา โดยความร่วมมือระหว่าง TIJ และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการของการกระทำความผิดจากรูปแบบของออฟไลน์มาสู่ออนไลน์ โดยชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญของการประสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อันนำมาสู่การปฏิบัติจริงในรูปแบบของการพัฒนาหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการ "โครงการลงมือทำ: การต่อต้านการละเมิดเด็กทางเพศในธุรกิจท่องเที่ยว" โดยที่ผ่านมามีผู้เข้ารับการอบรมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงเจ้าหน้าที่ทางปกครอง ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการต่อต้านและปราบปรามการละเมิดทางเพศต่อเด็กในธุรกิจท่องเที่ยวแล้วถึง 3 รุ่น
การประชุมดังกล่าวมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจเข้าร่วมถอดบทเรียนหลายแห่ง เช่น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนโยบายสาธารณะและธรรมาภิบาล เยอรมัน-อุษาคเนย์ (German – Southeast Asian Center of Excellence for Public Policy and Good Governance - CPG) องค์การตำรวจสากล (International Criminal Police Organization - INTERPOL) สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UN Office on Drugs and Crime – UNODC) กรมตำรวจสหพันธรัฐออสเตรเลีย (Australian Federal Police - AFP) องค์การปราบปรามอาชญากรรม แห่งชาติแห่งสหราชอาณาจักร (National Crime Agency - NCA) กรมตำรวจเนเธอร์แลนด์ (Dutch National Police) กลุ่มเจ้าหน้าที่ต่างชาติต่อต้านยาเสพติดและอาชญากรรมประจำประเทศไทย (Foreign Anti-Narcotics and Crime - FANC) กรมตำรวจ สหพันธรัฐเยอรมนี (German Liaison Police - BKA) หน่วยสืบสวนแห่งนาวิกโยธิน สหรัฐอเมริกา (Naval Crime Investigative Service - NCIS) มูลนิธิสายเด็ก (Childline Thailand) มูลนิธิกระจกเงา สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กรมการปกครอง กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธร ภาค 6 และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
"เพื่อให้การขับเคลื่อนในเชิงนโยบายเกิดผลสัมฤทธิ์ ที่ประชุมยังได้มีการหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็กและการล่วงละเมิดทางเพศเด็กในระดับชาติ ซึ่งจะช่วยให้การปราบปรามสื่อลามกอนาจารเด็กและล่วงละเมิดทางเพศเด็กในระยะยาวมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย โดย TIJ ในฐานะองค์กรหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมก็ได้ให้ความสนใจและยินดีให้การสนับสนุนต่อแนวคิดดังกล่าว" เอกอัครราชทูต อดิศักดิ์ กล่าวสรุป