Talent Mobility Fair 2017

พุธ ๐๔ ตุลาคม ๒๐๑๗ ๐๙:๒๓
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จัดงาน Talent Mobility Fair 2017 ในวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม 2560 ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยได้รับเกียรติจาก นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาเป็นประธานกล่าวเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "บทบาทของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับการพัฒนากำลังคนสู่ Thailand 4.0" โดยมีผู้เข้าร่วมงาน ทั้งผู้ประกอบการจากภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษา นักวิจัย และนักวิชาการจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มากกว่า 400 คน ร่วมผลักดันและขับเคลื่อนโครงการ Talent Mobility ให้มีความก้าวหน้า ซึ่งจะเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยที่มาของโครงการ Talent Mobility เนื่องจากพบว่าบุคลากรวิจัยในประเทศไทย กว่าร้อยละ 70 ปฏิบัติงานอยู่ในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐ ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนนักวิจัยในภาคเอกชนอย่างเร่งด่วน และเป็นการส่งเสริมเชื่อมโยงระหว่างภาคอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรม (University-Industry Iinkages) อย่างเป็นรูปธรรม จึงมีการดำเนินการ "โครงการส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคเอกชน" หรือ "Talent Mobility" ขึ้น เพื่อสนับสนุนให้บุคลากร วิจัยของภาครัฐเข้าไปช่วยปฏิบัติงาน และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของภาคเอกชน ซึ่งจะทำให้เกิดการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างองค์ความรู้ใหม่ ทำให้เกิดนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อประชาชนและช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ทั้งนี้ โครงการ Talent Mobility ได้มีการสร้างระบบ Clearing House ขึ้นมาอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงบุคลากรของภาครัฐให้ไปช่วยภาคเอกชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งปัจจุบันได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเข้าร่วมโครงการกว่า 21 มหาวิทยาลัย และมีหน่วยร่วมดำเนินการ Talent Mobility กว่า 20 ศูนย์กระจายทั่วประเทศ เพื่อทำหน้าที่เตรียมความพร้อมให้กับนักวิจัยภาครัฐก่อนเข้าร่วมงานกับภาคเอกชน ปัจจุบันโครงการ Talent Mobility ไม่เพียงแต่มีการร่วมดำเนินการกับทาง สกอ.เท่านั้น แต่ยังมีการดำเนินโครงการร่วมกับโปรแกรม ITAP ของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ฝ่ายอุตสาหกรรม ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รวมถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่นๆ รวม 8 แห่ง

จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ปัจจุบันมีบุคลากรที่เคลื่อนย้ายไปปฏิบัติงานในภาคเอกชนภายใต้โครงการ Talent Mobility แล้ว จำนวน 993 คน แบ่งเป็น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจำนวน 466 คน นักวิจัยจากสถาบันวิจัยของรัฐจำนวน 83 คน และผู้ช่วยนักวิจัยจำนวน 280 คน (นักศึกษา ป.เอก 51 คน ป.โท 101 คน ป.ตรี 292 คน) มีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นจำนวน 292 บริษัท จาก 366 โครงการ โดยเป็นบริษัท SME กว่า 90% (263 แห่ง) และจากโครงการทั้งหมดนี้ พบว่าอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร คิดเป็น 37% ของโครงการทั้งหมด และเป็นกิจกรรมการวิจัยและพัฒนามากถึง 61%

สำหรับ สิ่งที่ กระทรวงวิทย์ฯ จะขับเคลื่อนต่อไปในอนาคต คือการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติที่ประกอบไปด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ 2.การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ประเด็นทางสังคม 3.การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การสร้างองค์ความรู้พื้นฐานของประเทศ และ 4.การสร้างบุคลากร พัฒนาระบบนิเวศ และเครือข่ายการวิจัยและนวัตกรรมที่เข้มแข็ง

"นอกจากนี้ กระทรวงวิทย์ฯ ยังเป็นหน่วยงานหลักที่จัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี ของประเทศ โดยครอบคลุมถึงยุทธศาสตร์การวิจัย การพัฒนากำลังคน ด้านงบประมาณ และด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เราคิดว่าการปรับปรุงระบบวิจัยใหม่ในครั้งนี้ จะช่วยกำหนดทิศทางงานวิจัยของประเทศให้เป็นแบบ Demand-driven มากขึ้นและเป็นการเพิ่มการลงทุนในด้านการวิจัยของภาคเอกชน ทั้งยังสนับสนุนการทำงานแบบ Public Private Partnership (PPP) อีกด้วย" นายพรชัย กล่าว

ด้าน ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า การจัดงาน Talent Mobility Fair 2017 ในครั้งนี้ เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมให้นักวิจัย และบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ วทน. จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐ ไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคเอกชน หรือที่รู้จักกันในชื่อ "นโยบาย Talent Mobility" ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 โดยได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทน. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อผลักดันการดำเนินการตามนโยบาย Talent Mobility ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินนโยบายนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศ 20 ปี และรองรับการขับเคลื่อนประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0

อีกทั้ง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ภาคเอกชน นักวิจัย มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยภาครัฐ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ได้รับทราบถึงกลไกการสนับสนุนการเคลื่อนย้ายบุคลากร วทน. จากสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยของภาครัฐไปปฏิบัติงานในภาคเอกชน ตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงนำเสนอตัวอย่างผลงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ เพื่อแสดงศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาของบุคลากร วทน. ของภาครัฐ ตลอดจนสร้างเวทีให้ผู้ประกอบการได้พบปะหารือกับนักวิจัย มหาวิทยาลัย รวมถึงหน่วยงานวิจัยเพื่อจับคู่ความร่วมมือ และทำงานร่วมกัน

ดร.กิติพงค์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การจัดงานงาน Talent Mobility Fair 2017 ในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีสำคัญที่ให้ภาคเอกชนสามารถเข้ามาเชื่อมโยงหาบุคลากรด้านงานวิจัยที่เหมาะสมตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการหรือภาคเอกชน เพื่อร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือบริการ ให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีศักยภาพ และเป็นเวทีให้ภาคเอกชนสามารถเข้ามาเชื่อมโยง จับคู่หานักวิจัยที่เหมาะสม ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการหรือภาคเอกชน โดยภายในงานได้รับเกียรติจากผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ

"บทบาทของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับการพัฒนากำลังคนสู่ Thailand 4.0" นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและมากประสบการณ์ จากภาคเอกชน มาแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับประโยชน์ของระบบการสนับสนุนจากภาครัฐ และร่วมเสวนาในหัวข้อ "การเพิ่มศักยภาพด้านนวัตกรรมของภาคเอกชนด้วยระบบสนับสนุนจากภาครัฐ"

พร้อมทั้ง กิจกรรมในภาคบ่าย ประกอบด้วยการเสวนาในประเด็นที่อยู่ในความสนใจของภาคเอกชน นักวิจัย มหาวิทยาลัย และหน่วยงานวิจัยภาครัฐ ใน 2 หัวข้อ ได้แก่

1.เรื่อง "รูปแบบการสนับสนุนและบริการวิจัยเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม" โดยวิทยากรจากหน่วยงานภาครัฐที่มีบริการในการสนับสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชน

2.เรื่อง "Build up SMEs เพิ่มขีดความสามารถด้านวิจัยและนวัตกรรม (R&I) รองรับ Disruptive Change" โดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งในเวทีเสวนาประกอบด้วยวิทยากรผู้มีประสบการณ์ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ที่จะมาให้มุมมองเกี่ยวกับทิศทางและแนวทางการพัฒนา SMEs ในประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการจัดแสดงนิทรรศการจากมหาวิทยาลัยที่เป็นศูนย์อำนวยความสะดวกและหน่วยงานร่วมดำเนินการ Talent Mobility กว่า 20 แห่ง ซึ่งภายในบูธนิทรรศการนอกจากมีการแสดงตัวอย่างผลงานที่พัฒนาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชนแล้ว ยังมีกิจกรรมการจับคู่ความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการ และนักวิจัยที่ต้องการไปปฏิบัติงานในภาคเอกชน โดยความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรมฯ ร่วมดำเนินการกับ สวทน. ตั้งแต่การประกาศรับโจทย์จากสถานประกอบการ นำส่งโจทย์ที่ได้รับไปยังมหาวิทยาลัยเครือข่าย รวมถึงประสานงานเพื่อนัดหมายให้นักวิจัยและสถานประกอบการได้มาพบปะ และพูดคุยกันเบื้องต้นก่อนที่จะพัฒนาความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ ต่อไปในอนาคต และภายในงานยังมีโซนนิทรรศการของหน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมของภาคเอกชนกว่า 12 แห่ง รวมถึงการแสดงผลงานของภาคเอกชนที่มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพของสถานประกอบการ และเป็นสถานประกอบการที่ได้เข้าร่วมการฝึกอบรมหลักสูตร Next Gen Innovator ที่จัดโดย สวทน. ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมฯ จำนวน 15 แห่ง

"ขอเชิญชวนผู้เข้าร่วมงานจากภาคเอกชนสมัครเข้าร่วมกิจกรรม โดยสามารถฝากข้อมูลความต้องการนักวิจัยไว้ได้ที่บริเวณ Matching Center ในโซน University-industry linkages โดยทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้รวบรวมโจทย์ความต้องการของท่านแล้วเชื่อมโยงโจทย์ดังกล่าวไปที่ศูนย์อำนวยความสะดวก Talent Mobility ต่อไป และสำหรับนักวิจัยก็ขอเชิญชวนทุกท่านเข้ามากรอกข้อมูลความเชี่ยวชาญได้ที่ Matching Center เพื่อแจ้งความประสงค์ในการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ได้เช่นเดียวกัน" ดร.กิติพงค์กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ