ทั้งนี้เจ้าภาพขออนุญาตงดรับพวงหรีด แต่ขอเปลี่ยนเป็นรับบริจาคเพื่อนำไปจัดตั้งกองทุน พันเอกสมคิด ศรีสังคม เพื่อการ ศึกษาเด็กด้อยโอกาส ผ่านมูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา (มูลนิธิ EDF) บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขางามวงศ์วาน ประเภทบัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 319-2-90169-9 ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิ EDF จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
พันเอกสมคิด ศรีสังคม เป็นลูกชาวนา เกิดเมื่อช่วงประมาณเดือนอ้ายหรือเดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ.2459 ที่บ้านสร้างคอม ตำบลสร้างคอม อำเภอสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี ห่างจากตัวเมืองอุดรธานีประมาณ 70 กิโลเมตร โดยท่านมีพี่น้องทั้งหมด 10 คน เป็นคนสุดท้อง และเสียชีวิตแล้วทั้งหมด
พันเอกสมคิด สมรสกับ นางฟรานซิสกา ศรีสังคม มีบุตรและธิดา รวม 4 คน ได้แก่ พญ.สุดา เย็นบำรุง นางสาวดารา ศรีสังคม นางบุษบา ศรีสังคม และนายศักดา ศรีสังคม
พันเอกสมคิดสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปีที่ 8 ด้วยระดับคะแนนยอดเยี่ยมของประเทศ จากโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล (พ.ศ.2478) ปริญญาตรีธรรมศาสตร์บัณฑิต (ธ.บ.) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (พ.ศ.2483) หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2492 ได้ลำดับที่ 1 ในการสอบชิงทุนเพื่อไปศึกษาต่อด้านสังคมศาสตร์ที่ประเทศอังกฤษ และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์และสังคมวิทยา รวมทั้งได้รับประกาศนียบัตรด้านสังคมศาสตร์และการบริการจาก London School of Economics and Political Science (L.S.E) มหาวิทยาลัยลอนดอน และปริญญานิติศาสตร์มหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ.2503)
ในปี พ.ศ.2480-2483 พันเอกสมคิดเข้ารับราชการครูที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จังหวัดอุดรธานี ต่อมาในปีพ.ศ.2484 ได้สอบแข่งขันโอนไปรับราชการที่กรมอัยการ กระทรวงมหาดไทย ต่อมาในปี พ.ศ.2485 ได้สอบแข่งขันโอนไปรับราชการที่กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม (พ.ศ.2492 ลาไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ) ในปี พ.ศ.2505 ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้ากองนิติธรรมทหาร หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2506 ได้รับการชักชวนจาก ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยสมัยนั้นให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ฝ่ายวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ทางด้านเส้นทางการเมือง พันเอกสมคิดดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุดรธานี 4 สมัย (พ.ศ.2512-2529)เลขาธิการพรรคเสรีประชาธิปไตย (พ.ศ.2512-2513) หัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตย (พ.ศ.2514) สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (สภาสนามม้า) (พ.ศ.2516) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2517 พ.ศ.2516-2517) หัวหน้าพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย (พ.ศ.2518-2529) ประธานคนแรก โครงการรณรงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย (ค.ร.ป.) (พ.ศ.2523-2531) ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาร่างธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 (พ.ศ.2539) สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดอุดรธานี (พ.ศ.2543-2549)
ระหว่างการประชุมฉลองกึ่งศตวรรษแห่งประชาธิปไตยไทยในปี พ.ศ.2525 ณ หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมให้เป็น "นักประชาธิปไตยชั้นนำ" ร่วมกับ ฯพณฯ ดร.ปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโส และ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นอกจากนั้นระหว่างดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนไปร่วมประชุมทางการเมืองทั่วโลกอย่างต่อเนื่องทุกปี และมีบทบาทอย่างสำคัญในการแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมนานาชาติในฐานะผู้แทนของรัฐสภาไทย
สำหรับพันเอกสมคิด ศรีสังคม เป็นสมาชิกวุฒิสภารุ่นแรกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2543 และหมดวาระในเดือนมีนาคม 2549 เป็นสมาชิกวุฒิสภาพที่มีอาวุโสสูงสุดในวุฒิสภา
ด้านเกียรติประวัติอื่นๆ พันเอกสมคิด ได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดีเด่นประจำปี พ.ศ.2541 จากสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย ในปี พ.ศ.2548 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นปถมาภรณ์ช้างเผือก และในช่วงปลายปี พ.ศ.2548 สื่อมวลชนได้มีมติเป็นเอกฉันท์ยกย่องให้เป็น "คนดีศรีสภา" จากการปฏิบัติหน้าที่วุฒิสมาชิกด้วยความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง กล้าแสดงความคิดเห็นเป็นตัวของตัวเองด้วยจุดยืนอันเด่นชัด
นอกเหนือจากบทบาททางการเมือง และการส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศไทยแล้ว พันเอกสมคิดยังมีบทบาทหลักในการพัฒนาการศึกษาของประเทศ ร่วมกับมูลนิธิ EDF (มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา) ด้วยการเป็นประธานและ ผู้ร่วมก่อตั้ง เพื่อมอบโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนด้อยโอกาสในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย โดยนับตั้งแต่ก่อตั้งมูลนิธิ EDF ในปีพ.ศ.2530 จนถึงปัจจุบัน ได้มอบทุนการศึกษาไปแล้วกว่า 344,226 ทุน เป็นเงินทุนการศึกษา 586,208,299 บาท ครอบคลุม 55 จังหวัดในโรงเรียนกว่า 5,000 แห่ง รวมทั้งร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมซีเอสอาร์ภายในโรงเรียนด้วย