มหาวิทยาลัยเซนต์จอร์จส์ จะเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมสัมมนาสองวัน คือวันที่ 21 – 22 ตุลาคม นี้ มหาวิทยาลัยดังกล่าวมีข้อตกลงร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลในการดำเนินการหลักสูตรสองปริญญา (Dual degree) และนับเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในสาขาการแพทย์ สัตวแพทย์ และสาธารณสุข รวมทั้งยังมีศูนย์อาชีว-อนามัยและอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินการร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ล้วนตั้งอยู่ภายในวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย ภายใต้ปณิธานหลักในการเป็นแหล่งองค์ความรู้ด้านสุขภาพในระดับโลก ทั้งนี้ ในงานประชุมสัมมนาครั้งนี้จะมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ผู้บุกเบิกและผู้นำในวงการแพทย์เข้าร่วมงาน
"หนึ่งสุขภาพหนึ่งเวชกรรม (One Health One Medicine) คือแนวคิดในการหลอมรวมองค์ความรู้ด้านสุขภาพของนมุษย์ สัตว์ และระบบนิเวศ เข้าไว้ด้วยกัน เป็นผลให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงานในสภาพแวดล้อมหรือบริบทจริง ทั้งนี้ สาขาทางการแพทย์ต่างๆ จะสามารถพัฒนาไปด้วยกันได้อย่างเชื่อมโยง ผ่านการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และการผสมผสานทรัพยากร ที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าอันเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติและสรรพสัตว์" ดร. คาล แมคเฟอร์สัน รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาหลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยเซนต์จอร์จส์ กล่าว
โครงการหนึ่งสุขภาพหนึ่งเวชกรรม (OHOM) ของมหาวิทยาลัยเซนต์จอร์จส์มีเป้าหมายในการช่วยพัฒนาโอกาสทั้งภายในประเทศ และผ่านการร่วมมือกับสถาบันนานาชาติในการวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพระดับโลก ซึ่งมีผลกระทบต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม โครงการดังกล่าวได้พัฒนามาเป็นเวลาสิบปีแล้ว โดยล่าสุดได้ขยายไปถึงการจัดงานสัมมนาหนึ่งสุขภาพหนึ่งเวชกรรมที่ทางมหาวิทยาลัยเซนต์จอร์จสเป็นผู้สนับสนุน คอร์สอบรมที่เปิดให้สาธารณชนได้เรียนผ่านอินเตอร์เนท การอบรมเชิงปฏิบัติการ และการประชุมสัมมนาที่กำลังจะจัดขึ้น
ดร. จี ริชาร์ด โอลด์ส อธิการบดีมหาวิทยาลัยเซนต์จอร์จส์ ศาสตราจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์และสัตวแพทยศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเขตร้อน ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ด้านสุขภาพมาแล้วทั่วโลก เขามองว่าเกรนาดาเป็นจุดภูมิศาสตร์ที่ดีในการศึกษาค้นคว้าเรื่องต่างๆ ที่สัมพันธ์กับปรัชญาของโครงการหนึ่งสุขภาพหนึ่งเวชกรรม
"ในฐานะศูนย์กลางระดับนานาชาติด้านการฝึกอบรมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอร์จส์จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมสัมมนาใหญ่เกี่ยวกับความสำคัญในการหาแนวทางพัฒนาสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และระบบนิเวศ" ดร. โอลด์ส กล่าว "นักศึกษาของเรา ทั้งในอดีตและปัจจุบันมาจากทั่วทุกมุมโลก ดังนั้น การเปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวคิดร่วมกันจะเป็นการผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในสาขาต่างๆ ทางการแพทย์"
ผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติที่จะมาเข้าร่วมอภิปรายในการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ ประกอบด้วย:
พญ. จุฬธิดา โฉมฉาย - รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
นพ. สัมมน โฉมฉาย – รองศาสตราจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
น. สพ. ดร. กาย ปาล์มเมอร์ - ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านพยาธิวิทยาและโรคติดเชื้อ, ประธานอาวุโสของแจน แอนด์ แจ๊ค เครกตัน และผู้อำนวยการอาวุโสองค์กรโกลบอล เฮลธ์ รวมทั้งผู้อำนวยการคณะพอล จี อัลเลน สัตวแพทยสาธารณสุข มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สเตท ประเทศสหรัฐอเมริกา
ดร. ฟิทซ์รอย เฮนรี - คณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี จาไมกา เวสต์ อินดีส์
สพ. ญ. ดร. ซาราห์ คลิฟแลนด์ - ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาเปรียบเทียบ สถาบันทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สัตวแพทยสาธารณสุขและแพทยศาสตร์เปรียบเทียบ คณะแพทย์ สัตวแพทย์ และชีววิทยาศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยกลาสโกว สก็อตแลนด์ สหราชอาณาจักร
บทคัดย่อที่ผู้วิจัยส่งเข้ามาจะได้รับการพิจารณาโดยคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของการประชุม สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม รูปแบบการพิมพ์บทคัดย่อ และรูปแบบการทำโปสเตอร์ สามารถติดต่อรับได้ที่คุณนาโอมิ อเล็กซานเดอร์ ([email protected])
หากท่านต้องการลงทะเบียนเข้าร่วมงานประชุมสัมมนา หรือส่งบทคัดย่องานวิจัยเพื่อนำเสนอในงานประชุมสัมมนา สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ http://www.sgu.edu/ohom/