รมว.คมนาคม ยืนยันโครงการคมนาคมขนส่งภาครัฐใช้เหล็กในประเทศ

ศุกร์ ๐๖ ตุลาคม ๒๐๑๗ ๑๒:๑๗
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถกเข้มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็ก เดินหน้าการก่อสร้างโครงการคมนาคมขนส่งภาครัฐ ต้องใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กในประเทศมากที่สุด

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2560 กลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ได้แก่ (1) สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย (2) สมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย (3) สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น (4) สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า (5) สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน (6) สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และ (7) สมาคมโลหะไทย นำโดย นายวิกรม วัชรคุปต์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะที่ปรึกษากลุ่ม 7 สมาคม เข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอปัญหาของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย และเรียกร้องให้มีการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศสำหรับโครงการก่อสร้างระบบคมนาคมขนส่ง ของกระทรวงคมนาคม

นายวิกรม กล่าวว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมเหล็กไทยกำลังประสบปัญหาการใช้อัตรากำลังการผลิตที่ต่ำมาก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาว เช่น เหล็กเส้น เหล็กลวด ที่ใช้สำหรับงานก่อสร้าง อัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยไม่ถึงร้อยละ 40 ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามมีปริมาณการบริโภคเหล็กแซงหน้าประเทศไทยไปแล้ว เนื่องจากการก่อสร้างโครงการพื้นฐานของเวียดนามมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว

นายวิกรมย้ำว่า อุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมาก ดังนั้นรัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการใช้วัสดุเหล็กที่ผลิตในประเทศในงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ เช่น โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน และ โครงการก่อสร้างสะพาน เพื่อช่วยพัฒนาผู้ผลิตในประเทศให้เกิดการต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเหล็กใหม่ๆ

"ในอนาคตรถไฟระบบรางมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปเป็นรถไฟฟ้าระบบราง ประเทศไทยสามารถอาศัยความได้เปรียบของการเป็นฐานการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนที่เข้มแข็ง ต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบรถไฟ ปัจจุบันเราส่งออกเศษเหล็กที่เป็นเหล็กกล้าไร้สนิมนับแสนตัน ซึ่งเศษเหล็กเหล่านี้สามารถนำมาแปรรูปผลิตเป็นล้อและเพลาของรถไฟได้" นายวิกรมกล่าว

นายชัยเฉลิม บุญญานุวัตร ผู้แทนจากสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า ชี้แจงว่าสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสแรก ซึ่งกำหนดให้ใช้มาตรฐานสินค้าเหล็กของจีนเป็นหลัก นั้น ผู้ผลิตในประเทศมีความสามารถในการผลิตเหล็กเส้นกลมและเหล็กข้ออ้อย ตามมอก.บังคับของไทย แต่จำเป็นต้องขออนุญาตทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่แตกต่างไปจาก มอก.บังคับของไทย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาขออนุมัติจากทางสมอ.ทุกครั้งก่อน อันอาจส่งผลต่อระยะเวลาการส่งมอบสินค้า จึงเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาให้ใช้สินค้าที่ผลิตตามมอก.บังคับของประเทศไทยเป็นหลัก

ขณะที่นายเภา บุญเยี่ยม เลขาธิการสมาคมเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนเหล็ก ชี้ประเด็นปัญหาการนำเข้าเหล็กโครงสร้างประกอบสำเร็จ (Prefabricated Structure Steel) ที่ยังไม่มีมาตรฐานควบคุม มีปริมาณสูงขึ้น โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2560 นำเข้ามาแล้วกว่า 64,000 ตัน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 9% และมีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเหล็กโครงสร้างดังกล่าวยังไม่มีมาตรฐานรองรับ ผู้นำเข้าอาจใช้เหล็กด้อยคุณภาพหรือไม่เป็นไปตาม มอก. มาเป็นส่วนประกอบ อาจเกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในอนาคต

"เหตุที่มีการนำเหล็กเหล็กโครงสร้างประกอบสำเร็จเข้ามาขายในประเทศจำนวนมาก เพราะผู้นำเข้ามองเห็นช่องว่างด้านพิกัดศุลกากรที่สามารถนำเข้ามาโดยไม่ต้องเสียภาษีและอากรตอบโต้การทุ่มตลาด ซึ่งเป็นการใช้เทคนิคการเลี่ยงภาษีและอากรแบบหนึ่ง ดังนั้น การนำเข้าเหล็กโครงสร้างประกอบสำเร็จ นอกจากจะกระทบกับภาพรวมด้านเศรษฐกิจที่ไม่ก่อให้เกิดการจ้างงาน และส่งผลกระทบต่อกลุ่ม Fabricator และ Supply Chain ในประเทศแล้ว ยังทำให้ประเทศขาดรายได้จากการจัดเก็บภาษีและอากรทางการค้าด้วย รวมทั้งอาจมีความเสี่ยงในด้านความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์ของประชาชนหากใช้เหล็กโครงสร้างประกอบสำเร็จจากต่างประเทศที่ไม่มีมาตรฐานกำกับควบคุม" นายเภากล่าว

นายอนุวัฒน์ หวังวณิชชากร อุปนายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย กล่าวว่า ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของประเทศไทย สมาชิกของกลุ่ม 7 สมาคมฯ สามารถผลิตสินค้าเหล็กได้ครบทั้งหมด 20 มอก.บังคับ และอีก 32 มอก.ทั่วไป ซึ่งครอบคลุมวัสดุเหล็กส่วนใหญ่ที่ใช้ในการก่อสร้าง และอุตสาหกรรมต่างๆ จึงเสนอให้รัฐบาล และกระทรวงคมนาคมพิจารณานโยบาย Make in Thailand ส่งเสริมการใช้สินค้าเหล็กภายในประเทศไทย โดยยกตัวอย่าง สหรัฐอเมริกาใช้นโยบาย Buy America กำหนดเงื่อนไขผลิตภัณฑ์เหล็กที่ใช้ว่าจะต้องมีกระบวนการผลิตในประเทศตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตเหล็กกล้า (Steel Making) จนเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูป (Melted & Poured Standard) และ มาตรา 232 (Section 232) จำกัดการนำเข้าสินค้าเหล็กที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ หรือประเทศอินเดียที่ประกาศนโยบาย Make in India สนับสนุนผู้ผลิตเหล็กในประเทศเป็นลำดับแรกในการจัดซื้อจัดจ้างงานโครงการภาครัฐ มีการกำหนดสัดส่วนการใช้เหล็กในประเทศ (Local Content) ถึงร้อยละ 50 เป็นต้น

ภายหลังรับฟังปัญหาและข้อเสนอของผู้แทน 7 สมาคม นายอาคมกล่าวยืนยันว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายชัดเจนอยู่แล้วที่จะสนับสนุนการใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศเป็นลำดับแรกก่อน

"การพัฒนาการคมนาคมและขนส่งอีกหลายโครงการต้องใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กจำนวนมาก เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟรางคู่ สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งก็จะกำหนดเงื่อนไขส่งเสริมการใช้เหล็กภายในประเทศให้มากสุดเช่นกัน"นายอาคมยืนยัน

ในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสแรก การรถไฟแห่งประเทศไทยได้พิจารณาให้สามารถใช้สินค้าเหล็กเส้นกลม และเหล็กเส้นข้ออ้อยตามมาตรฐานไทยได้ โดยควบคุมสินค้าให้มีคุณสมบัติสอดคล้องกับมาตรฐานประเทศจีน

โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ก็ได้กำหนดร่างขอบเขตงาน (TOR) ให้ใช้วัสดุในประเทศ (Local Content) มากถึงร้อยละ 90

ขณะที่นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวย้ำนโยบายสนับสนุนการใช้เหล็กในประเทศ โดยนอกเหนือจากเรื่องคุณภาพและมาตรฐานสินค้าแล้ว ขอให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยพิจารณาเรื่องของราคาที่แข่งขันได้และสามารถผลิตได้อย่างเพียงพอกับความต้องการด้วย

นายนาวา จันทนสุรคน นายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย แสดงความยินดีที่กระทรวงคมนาคมมีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริมการใช้วัสดุเหล็กในประเทศ โดยจะระบุใน TOR ของโครงการต่างๆ ต่อไป พร้อมกำหนดใช้วัสดุตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของประเทศไทยเป็นหลัก หลังจากได้ความมั่นใจจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศจะติดตามการขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าว เพื่อมีส่วนร่วมในโครงการคมนาคมและขนส่งของภาครัฐ สำหรับประเด็นที่ กระทรวงคมนาคมเป็นห่วงว่าผู้ผลิตในไทยจะสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตได้เพียงพอหรือไม่ ขอเรียนยืนยันว่าสามารถผลิตได้เพียงพออย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันในภาพรวมผู้ผลิตในประเทศยังเหลือกำลังการผลิตอีกมาก

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version