ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ที่ยังมีปริมาณน้ำขังเดิมแล้ว ยังมีการคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาที่อาจจะส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ เป็นสองช่วง ช่วงแรกในช่วงวันที่ 9-10 ตุลาคม นี้ที่ยังมีหย่อมความกดอากาศต่ำยังคงอยู่ และจะส่งผลกระทบกับอีสานตอนบน จ.สกลนคร นครพนม ยโสธร และภาคเหนือตอนบน ซึ่งพื้นที่ภาคเหนือไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เนื่องจากยังมีเขื่อนภูมิพลที่ปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อน 60% ของความจุอ่าง และเขื่อนสิริกิตติ์ 80 ของความจุอ่าง แต่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในพื้นที่ลุ่มน้ำชี ที่ต้องเร่งแผนการพร่องน้ำเพิ่มเติมเช่นการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งขณะนี้ปริมาณเต็มความจุ 100%แล้ว จำเป็นจะต้องระบายน้ำเพิ่มเติมซึ่งอาจส่งผลให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้น รมว.กษ.ได้สั่งการให้มีการประสานแจ้งทางผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถึงข้อมูลปริมาณน้ำไหลผ่าน และระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นแต่ละจุดให้ชัดเจน โดยกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจะเป็นหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด
สำหรับในช่วงประมาณ 15- 17 ต.ค. กรมอุตุนิยมวิทยาได้ติดตามการก่อตัวของพายุ ที่จะมีความชัดเจนประมาณวันที่ 13 ต.ค.นี้ ซึ่งรัฐมนตรีเกษตรฯ ได้สั่งการให้มีการประชุมติดตามสถานการณ์ทุกวัน และทุกๆ 6 ชั่วโมงเพื่อประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการส่งเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ เพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดยเฉพาะการเร่งสูบน้ำออกทะเลบริเวณชายขอบของอ่าวไทยช่วงที่น้ำทะเลยังไม่หนุนสูงขณะนี้ และในช่วง 1 สัปดาห์นี้จะมีการปรับแผนระบายน้ำเพิ่มทั้งพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบัน และแผนรองรับปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยอาจจะมีการเร่งการระบายน้ำที่เขื่อนในพื้นที่ภาคกลางและอีสาน คือ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนอุบลรัตน์ ที่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและให้กระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำน้อยที่สุด