ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นประธานเปิดการสัมมนาอาจารย์แนะแนวระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง ม.ร. และอาจารย์แนะแนว โดยมี อาจารย์แนะแนวเข้าร่วมสัมมนา 368 คน จาก 33 จังหวัด เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2560 ณ อาคารหอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
โอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับสังคมไทย คือ ค่าหน่วยกิตราคาถูกและเต็มไปด้วยคุณภาพ ผู้ที่กำลังทำงานสามารถเรียนและทำงานได้เพราะไม่บังคับเข้าห้องเรียน นักศึกษามีโอกาสค้นหาตนเอง เรียนในสาขาวิชาที่ตนเองถนัด หรือเปลี่ยนสาขาวิชาด้วยการเทียบโอนหน่วยกิตได้โดยไม่ต้องเริ่มเรียนใหม่ อีกทั้ง ยังเพิ่มโอกาสให้ผู้ที่มีวุฒิการศึกษา ม.ต้น หรือกำลังเรียนชั้น ม.ปลาย เข้าเรียนมหาวิทยาลัยล่วงหน้าในระบบ Pre-degree ช่วยให้นักเรียนเข้าสู่การเรียนระดับอุดมศึกษาเร็วขึ้น ทำให้พวกเขามีโอกาสพัฒนาความรู้และมีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น อีกทั้ง นักศึกษาที่เรียน Pre-degree ออกไปสอบแข่งขันสนามภายนอก และสอบผ่านได้ลำดับต้นๆด้วย ทั้งนี้การเรียน Pre-degree ไม่ได้เร่งรัดเด็ก ใครที่มีความพร้อมก่อนก็เรียนก่อน ไม่ได้กระทบกับเวลาเรียนในโรงเรียน ทั้งยังส่งเสริมให้เด็กรู้จักใฝ่รู้ ค้นหาตนเอง และมีหลายคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต
"อาจารย์แนะแนวเป็นบุคคลที่มีบทบาทต่ออนาคตของเยาวชน โดยเฉพาะเยาวชนที่เป็นนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ทั้งยังเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญมากที่ทำให้ลูกศิษย์ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษา สามารถกำหนดอนาคตให้มีความมั่นคง และช่วยแนะนำให้พวกเขาเลือกทางที่ตนเองถนัด นอกจากการเรียนที่ส่วนกลางแล้ว ใครที่อยู่ต่างจังหวัดก็เรียนรามฯได้ที่ สาขาวิทยบริการฯ 23 จังหวัดทั่วประเทศ ใกล้ที่ไหน เรียนที่นั่น คุณภาพการเรียนการสอนทุกแห่งเหมือนกัน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้การศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ทั้งยังมุ่งมั่นดูแลลูกศิษย์เหมือนลูกหลานของเราเองอีกด้วย"
สำหรับ การสัมมนาในครั้งนี้ยังมีการบรรยายเรื่อง "แนะแนวอย่างไร ให้ถูกใจ ZEN Z" โดย อาจารย์จตุพล ชมภูนิช นักพูดชื่อดัง และการแนะนำหลักสูตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดย รองศาสตราจารย์สุวรรณี เดชวรชัย ผู้อำนวยการสำนักบริการทางวิชาการและทดสอบประเมินผล ต่อจากนั้นเป็นการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับข้อเสนอแนะจากอาจารย์แนะแนว ทั้งนี้มีอาจารย์แนะแนวจากโรงเรียนมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และจากการศึกษานอกโรงเรียนทั่วประเทศเข้าร่วมสัมมนารวม 368 คน จาก 33 จังหวัดทั่วประเทศ โดยแยกเป็นอาจารย์แนะแนวจากโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 130 คน โรงเรียนมัธยมศึกษาในส่วนภูมิภาค จำนวน 133 คน จากโรงเรียนอาชีวศึกษา จำนวน 37 คนและศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค จำนวน 68 คน