ดีป้าในฐานะหน่วยงานหนึ่งของภาครัฐ มีพันธกิจหลายประการในการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อตอบสนองต่อเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการสร้างบุคลากรในประเทศให้พร้อมสำหรับ Digital Transformation ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายส่งเสริมการพัฒนากำลังคนดิจิทัล เพราะ "ดิจิทัลใกล้ตัวเรากว่าที่คิด" จากปัจจุบันเทคโนโลยีได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่เปลี่ยนชีวิตของคนทั้งโลก รวมถึงประเทศไทยให้ ดีขึ้น
ดังนั้น "ยุทธศาสตร์ลดความเหลื่อมล้ำ" ตามแนวคิดของดีป้า คือ การใช้ประโยชน์จากดิจิทัล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เช่น โอกาสทางการศึกษา โอกาสในการทำงาน ให้ประชาชนสามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนให้สูงขึ้นกว่าเดิม เช่น เมื่อคนใช้งานอินเทอร์เน็ต ก็จะสามารถศึกษาเรื่องต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง ต่อให้ไม่มีโอกาสเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาก็ตาม หรือการมีร้านค้าในโลกออนไลน์แทนการมีหน้าร้านแบบในอดีต และหน้าที่ของฝ่ายส่งเสริมการพัฒนากำลังคนดิจิทัล ก็อยู่ที่การพัฒนาคนให้พร้อมสำหรับ Digital Transformation นั่นเอง โดย ดร.รัฐศาสตร์เปิดเผยว่าแนวคิดในการส่งเสริมกำลังคนดังกล่าวจะเน้นหนักใน 4 ด้านคือ
1. ส่งเสริมขีดความสามารถของการผลิต
ไม่ว่าเราจะทำกิจการ ธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมอะไร ดิจิทัลนั้นมีส่วนสำคัญทั้งหมด เช่น โรงงานที่เมื่อก่อนใช้กำลังคน เครื่องจักรหนักเบาในการดูแล วันนี้เปลี่ยนเป็นการใช้อุปกรณ์ไอโอทีดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ หมายความว่า ในอนาคตสินค้าที่จะผลิตออกมานั้นจะมีต้นทุนถูกลงเรื่อยๆ ในขณะที่มีคุณภาพดีขึ้นตามลำดับ ถ้าเราไม่ได้ปรับ เปลี่ยน สินค้าเราก็จะมีต้นทุนสูงกว่าคู่แข่ง เท่ากับเป็นการเสียโอกาสในการทำธุรกิจ
2. ส่งเสริมให้เกิดโอกาส ความเท่าเทียมในสังคม
ทางสำนักงานฯ เชื่อว่าดิจิทัลเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทุกคนนั้นเชื่อมต่อกัน มีการสร้างโอกาสกันได้มากขึ้น อย่างโครงการเน็ตประชารัฐ ที่มีเป้าหมายในการเชื่อมต่อทั้งประเทศ ทั้งหมด 74,000 กว่าหมู่บ้าน ให้ติดต่อสื่อสารถึงกันอย่างครอบคลุม ซึ่งภายในปีนี้จะทำการเชื่อมต่อทั้งหมด 24,700 หมู่บ้าน และนี่คือการสร้างโอกาสให้พวกเขาได้ติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก
3. ส่งเสริมปฏิรูปภาครัฐ
โดยการให้หน่วยงานรัฐมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการทำงานมากขึ้น
4. ส่งเสริมทุนมนุษย์
ซึ่ง "คน" นั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ หรือสังคม คนถือเป็นพื้นฐานที่ทำให้กงจักรนี้หมุนได้ สำนักงานฯ มีพันธกิจในเรื่องของคนอยู่ใน พ.ร.บ. การจัดตั้งสำนักงาน ส่งเสริมให้คนไทยสามารถใช้ดิจิทัลในการทำธุรกิจ ในเชิงสังคม วัฒนธรรมและความมั่นคง
ดร.รัฐศาสตร์ กล่าวว่า "ถ้าเราพูดถึง Digital Manpower เราสามารถแบ่งออกมาได้เป็นหลายระดับ ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานคือ ในระดับชุมชน ผู้สูงอายุ และเยาวชน ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไร ล้วนต้องมีส่วนในการใช้ดิจิทัล ใช้ความเป็นไอทีกันหมด แต่ประเทศจะปรับหรือเปลี่ยนได้ สิ่งสำคัญคือคนที่อยู่ข้างบนสุด คือ ระดับผู้บริหารจะต้องเข้าใจ และสามารถทำให้การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริง จึงเป็นที่มาของหลักสูตร "DEPA Digital Academy's Top Executive Programs" ที่เราจะสร้าง โดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้บริหาร เจ้าของกิจการต่างๆ สามารถปรับตัว และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารได้ดียิ่งขึ้น"
"หลักสูตรที่เราสร้างขึ้นมานั้นมีความหลากหลายและครอบคลุมในหลายแง่มุม ตั้งแต่ระดับ Top Executive ที่เป็นเบอร์หนึ่งขององค์กรที่ต้องเข้าใจในภาพรวม นโยบาย การบริหารทั้งหมด รองลงมาคือในระดับปฏิบัติการ ดูแลนโยบายต่างๆ และอีกกลุ่มที่ต้องลงลึกไปในเรื่องต่างๆ แบ่งเป็น 3 เรื่องคือ 1) การผลิตอุตสาหกรรม 2) ภาคเกษตรกรรม และ 3) สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนา (Smart Cities) ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นใหญ่ที่เนื้อในของมันยังมีมุมมอง และเรื่องราวให้ต้องมาศึกษาค้นคว้ากันอีกมาก เราเชื่อว่าหลักสูตรเหล่านี้จะสามารถให้ความรู้ที่ครบถ้วน และพัฒนาทักษะให้กับกลุ่มเป้าหมายได้ แต่ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนงานทั้งหมด คือระดับบริหาร เรายังมีหลักสูตรที่จะเข้าไปดูแลส่งเสริมให้กับกลุ่มคนในระดับชุมชนทั้งผู้สูงอายุ เยาวชน หรือคนที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรม ทั้งภาค S-Curve, New S-Curve หรือ Digital Industry เราเองก็มีโครงการ หลักสูตรที่จะเข้าไปเสริมแกร่งตรงนั้นให้เกิดขุมกำลังดิจิทัลอย่างทั่วถึง นี่คือหน้าที่หลักของดีป้า ที่มีความตั้งใจให้พี่น้องคนไทยมีความสามารถในการใช้ดิจิทัลในการพัฒนาประเทศ ในกระบวนการทำงาน หรือการส่งเสริมคุณภาพสังคม ซึ่งวันนี้เรามีแล้ว 5 หลักสูตร จะเปิดภายในปลายปีนี้ และต้นปีหน้า รวมไปถึงหลักสูตรอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นล้อไปตามความเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในอนาคต" ดร.รัฐศาสตร์เสริม