หมอเผย คนไทยน้อยมากรู้ถึงอันตรายร้ายแรงจากโรคลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ โรคลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ เสี่ยงให้เกิดภาวะการทุพพลภาพเรื้อรัง

พฤหัส ๑๒ ตุลาคม ๒๐๑๗ ๑๑:๒๘
จากผลการสำรวจการรับรู้ถึงอันตรายของโรคลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ พบว่าคนไทยมีความเข้าใจถึงอันตรายของโรคลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำในระดับที่ต่ำมาก สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และสภากาชาดไทยจึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรม "ลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ: ป้องกันก่อนจะเกิดอันตราย" ในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการรณรงค์วันหลอดเลือดอุดตันโลก

จากผลสำรวจการรับรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดอุดตัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอันตรายจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ (VTE) จัดทำโดยองค์การนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดอุดตัน หรือ ISTH ทำการสำรวจความคิดเห็นประชากรวัยผู้ใหญใน 9 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย พบว่าระดับความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำอยู่ในระดับที่ต่ำมาก

แม้ว่าโรคหลอดเลือดอุดตันและภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ (VTE) จะสามารถป้องกันได้ แต่ยังคงเป็นสาเหตุของสำคัญทำให้เสียชีวิต จากรายงานพบว่า1 ใน 4 ของประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากภาวะหลอดเลือดอุดตัน รวมถึงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases) ภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ เกิดขึ้นในระหว่างหรือภายหลังการนอนโรงพยาบาล เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและทุพพลภาพพบในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาหรือพัฒนาแล้วก็ตาม

โรคลิ่มเลือดอุดตัน (Thrombosis) เกิดจากลิ่มเลือดขัดขวางการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดแดง (Arterial Thrombosis) หรือ หลอดเลือดดำ (Venous Thrombosis) การจับตัวกันเป็นลิ่มเลือดจะขัดขวางการไหลเวียนของเลือดอย่างช้าๆ หากลิ่มเลือดส่วนหนึ่งส่วนใดหลุดออกจากผนังหลอดเลือดแล้วลอยไปตามกระแสเลือดจะเรียกว่า เอ็มโบไล (emboli) แม้ว่าโรคหลอดเลือดอุดตันจะสามารถป้องกันได้ แต่มักจะพบว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหลอดเลือดสมองตีบ และภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ ซึ่งเป็นโรคในกลุ่มของโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

จากผลสำรวจจัดทำโดยองค์การนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดอุดตัน หรือ ISTH ทำการสำรวจความคิดเห็นประชากรวัยผู้ใหญ่ (อายุ 40 ปีขึ้นไป) ใน 9 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อาร์เจนตินา สหรารชอาณาจักร เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อูกันดา รวมถึงประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการสำรวจระดับนานาชาติครั้งใหญ่ที่สุดในบรรดาการสำรวจในลักษณะเดียวกัน พบว่าคนไทย (ร้อยละ 64) เข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดอุดตัน แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำ หรือ DVT (ร้อยละ 26) และภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด หรือ PE (ร้อยละ 30) อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก และยังพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามมีความตระหนักถึงอันตรายของโรคอื่นๆ ในกลุ่มของโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ หัวใจล้มเหลว (ร้อยละ 72) เส้นเลือดในสมองตีบ (ร้อยละ 65) สำหรับโรคอื่นๆ อาทิ โรคเบาหวาน (ร้อยละ 84) มะเร็งต่อมลูกหมาก (ร้อยละ 73) ความดันสูง (ร้อยละ 77) มะเร็งเต้านม (ร้อยละ 78) และภูมิคุ้มกันบกพร้อง (ร้อยละ 80) โดยจะเห็นได้ว่าการตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงที่อันตรายของภาวะลิ่มเลือดอุดดันของหลอดเลือดดำยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก

"จากผลการสำรวจพบว่า คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจถึงสาเหตุ และผลของการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันนี้ สำหรับประเทศไทยเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำ หรือ DVT (ร้อยละ 26) และภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด หรือ PE (ร้อยละ 30) เราหวังว่าการรณรงค์วันหลอดเลือดอุดตันโลก จะทำให้คนรู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายจากโรคดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ (VTE) สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เริ่มแรก และมีการรักษาให้เหมาะสม ทั้งนี้ยังเป็นการสนับสนุนเป้าหมายของสมัชชาอนามัยโลกในการลดจำนวนการเสียชีวิตจากโรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังลงให้ได้ร้อยละ 25 ภายในปี พ.ศ. 2568" ศาสตราจารย์นายแพทย์ พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี หนึ่งในคณะกรรมการอำนวยการวันหลอดเลือดอุดตันโลก กล่าว

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ (VTE) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตและทุพพลภาพมากที่สุดทั่วโลก ปัจจัยความเสี่ยง อาทิเช่น การนอนโรงพยาบาลเป็นเวลานาน การผ่าตัด มะเร็งบางชนิด พันธุกรรม ยาบางชนิด (อาทิ ยาคุมกำเนิด) การตั้งครรภ์ หรือหลังการคลอด จากผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลกพบว่า สาเหตุการเสียชีวิต หรือ ทุพพลภาพ (ร้อยละ 60) เกิดจากการที่ผู้ป่วยมานอนรับการรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยนอนอยู่กับเตียงเป็นเวลานาน ขยับขาไม่ได้ ลุกเดินไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องตรวจสอบกับแพทย์ถึงความเสี่ยงในการเกิดโรค แพทย์ก็จะแนะนำให้บริหารขา หรือหากมีความเสี่ยงมากก็จะใช้เครื่องปั้มเท้าหรือขา เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้เร็วขึ้น

อาการที่เกิดจากหลอดเลือดดำส่วนลึกที่ขาอุดตัน (DVT) ตัวบ่งชี้ภาวะดังกล่าวประกอบด้วย อาการกดเจ็บ หรืออาการบวมซึ่งมักเริ่มที่น่อง รอยแดง หรือสีผิวที่ขาเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด มีอาการร้อนที่ขา สำหรับภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (PE) ตัวบ่งชี้ภาวะดังกล่าวประกอบด้วย อาการหายใจไม่ทั่วปอด หรือหายใจเร็วโดยหาสาเหตุไม่ได้ อาการเจ็บหน้าอก (บางครั้งเจ็บมากขึ้นเมื่อหายใจเข้าลึกๆ) หัวใจเต้นเร็ว อาจมีอาการวิงเวียนคล้ายจะเป็นลม หรือหมดสติ แม้อาการดังกล่าวอาจไม่ได้บ่งชี้ถึงภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำเสมอไป บุคลากรทางการแพทย์ก็ควรประเมินผู้ป่วยในทันที

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ หรือ VTE หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เริ่มแรก และมีการรักษาให้เหมาะสมในช่วง 3 ถึง 6 เดือนแรก สามารถรักษาให้หายขาดได้

ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ สามารถเข้าไปยังเว็ปไซต์รณรงค์วันหลอดเลือดอุดตันโลก www.worldthrombosisday.org.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ