ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานร่วมกันมีความต่อเนื่องสอดคล้องกับการดำเนินงานในปัจจุบันและบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ จึงได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในฐานะเจ้าของมาตรฐาน ThaiGAP กับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันอาหาร "เรื่อง สนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย (ThaiGAP)" และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการร่วมกันจัดทำ "โครงการ ยกระดับผักและผลไม้ไทย : โอกาสสำหรับพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืน" เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการด้านผักและผลไม้ผลิตสินค้าให้มีมาตรฐานมีความรู้ความเข้าใจ โดยการฝึกอบรม พัฒนาฟาร์มมาตรฐาน พร้อมขยายผลในการเพิ่มทักษะที่ปรึกษาฟาร์มผู้ตรวจประเมินภายในฟาร์มให้เป็นไปตามข้อกำหนด และให้ได้การรับรองมาตรฐาน ThaiGAP
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับ GISTDA จัดทำ "โครงการระบบตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้าเกษตรด้วย QR Code" จะมีระบบตรวจสอบย้อนกลับโดยการใช้ QR Code ตรวจสอบถึงแปลงผู้ผลิต เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค โดยติดลงบนผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ThaiGAP ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่าสินค้าที่ผ่านการรับรองมาตรฐานThaiGAP เป็นสินค้าที่มีความปลอดภัย ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสและรายได้ โดยการนำหลัก "เกษตร 4.0"มาใช้ให้เกิดประโยชน์
"มาตรฐาน ThaiGAP เป็น "เครื่องมือ" ให้กับหอการค้าจังหวัด ในการยกระดับคุณภาพการผลิตสินค้าผักและผลไม้ให้ปลอดภัย มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของท้องตลาด โดยร่วมกับโครงการ 1 หอการค้า 1 สหกรณ์ ให้การผลักดันให้สมาชิกสหกรณ์ได้รับมาตรฐาน ThaiGAP และร่วมกับโครงการสานพลังประชารัฐ คณะเกษตรสมัยใหม่ (D6) โครงการแปลงใหญ่ประชารัฐ สินค้าเกษตร สร้างรายได้เร็ว (Cash crop)" นายชูศักดิ์ กล่าว
นางฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่าโครงการ "ยกระดับผักและผลไม้ไทย : โอกาสสำหรับพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืน" เป็นความร่วมมือต่อเนื่องระหว่างโปรแกรม ITAP, สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สถาบันอาหารและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยที่ผ่านมาตลอด 3 ปี ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ได้ช่วยพัฒนาระบบการผลิตผักและผลไม้ที่ปลอดภัยให้กับผู้ประกอบการจำนวน 35 ราย โดยช่วยเพิ่มมูลค่าการขายไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการได้ให้คะแนนประเมินความพึงพอใจในการดำเนินโครงการฯ ค่าเฉลี่ยร้อยละ 85 ทำให้ผู้ประกอบการสามารถประกันคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าผักและผลไม้ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
"โครงการฯ นี้จะช่วยสนับสนุนในด้านมาตรฐาน ThaiGAP , GLOBALG.A.P., เกษตรอินทรีย์ รวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ยุค "เกษตร 4.0" เพื่อเปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศให้ยั่งยืน" นางฐิตาภา กล่าว
สำหรับการจัดกิจกรรมความร่วมมือโครงการฯ ของ สวทช. ตลอด 3 ปีข้างหน้า อาทิ จัดสัมมนาเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ 5 ครั้ง เช่น หัวข้อ Smart famer, เกษตรอินทรีย์ และ ThaiGAP เป็นต้น, จัดสัมมนาเพื่อเป็นที่ปรึกษาเกษตรกร 3 ครั้ง, วินิจฉัยปัญหาและความต้องการเบื้องต้นโดยผู้เชี่ยวชาญ, การเข้าให้คำปรึกษาแก่บริษัทโดยผู้เชี่ยวชาญ, การนำเสนอผลงานในงาน THAIFEX ณ อิมแพค เมืองทองธานี 3 ครั้ง (ปี 2561,2562,2563)และการเสาะหาเทคโนโลยี ณ ต่างประเทศ 2 ครั้ง (ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศญี่ปุ่น)
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า สถานบันอาหารได้มีส่วนร่วมในโครงการสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย (ThaiGAP) โดยให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆอาทิ การประชาสัมพันธ์และส่งเสริมกิจกรรมของสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย ให้ความร่วมมือการตรวจสอบวิเคราะห์ด้านห้องปฏิบัติการ เพื่อการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและการพัฒนามาตรฐาน ThaiGAP และให้การสนับสนุนการจัดอบรม สัมมนา ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน ThaiGAP
ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา รักษาการรองอธิการบดี ฝ่ายบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการดำเนินโครงการ คือ การจัดอบรม การให้คำปรึกษา/แนะนำ ให้กับเกษตรกร และบริษัทประมาณ 40 บริษัท ที่ผลิตผักและผลไม้สด และจัดจำหน่ายตามห้างค้าปลีกชั้นนำของประเทศ โดยการจัดการอบรมต้องการให้เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ของบริษัทต่าง ๆ ได้รับความรู้ในเรื่อง "มาตรฐาน ThaiGAP" และความเข้าใจร่วมกันในการขับเคลื่อนมาตรฐาน ThaiGAP ต่อไป
"มหาวิทยาลัยฯ มีความภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนด้านวิชาการ และขอแสดงจุดยืนความเป็นเครือข่ายวิชาการระหว่างสถานศึกษาต่างๆ ที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ เพื่อร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้ และปรับพัฒนาเป็นเทคโนโลยีเหมาะสมในแต่ละพื้นถิ่น เพื่อร่วมกันผลักดันผัก ผลไม้ ของประเทศไทยให้มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคในประเทศและสากล" ผศ.ดร.กัมปนาท กล่าว