องค์ความรู้ดังกล่าวจะนำมาถ่ายทอดแก่ผู้นำป่าชุมชนจากภาคใต้ 80 คน ที่เข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาเครือข่ายผู้นำป่าชุมชน ภายใต้โครงการ "คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กับกรมป่าไม้ เพื่อจะได้นำไปปรับประยุกต์ใช้เป็นกลไกป้องกันปัญหาน้ำไม่เพียงพอและลดผลกระทบจากภัยน้ำท่วม ซึ่งเป็นปัญหาที่นับวันจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น
นางบุญทิวา ด่านศมสถิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า "การสัมมนาเครือข่ายผู้นำป่าชุมชนครั้งนี้ ได้หยิบยกประเด็นการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นความต้องการของผู้นำป่าชุมชนที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็น กอปรกับระยะหลังๆ หลายพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมนำมาซึ่งความสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สินอย่างประเมินค่ามิได้ หลักการแก้มลิงจะเป็นตัวช่วยกักเก็บน้ำส่วนเกิน ขณะที่ฝายมีชีวิตจะช่วยชะลอการไหลบ่าของกระแสน้ำ ลดการทำลายหน้าดิน และยังสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในภาคเกษตร ช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้ผืนดินและต้นไม้ ทำให้ป่าสมบูรณ์ ผลผลิตเพิ่มพูน ชุมชนสามารถลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ที่สำคัญมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี"
ผู้นำป่าชุมชนรุ่นที่ 18 ทั้ง 80 คนนี้ จะได้เข้าศึกษาดูงานที่ศูนย์เรียนรู้โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นแก้มลิงธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช พระราชทานแนวทางการแก้ปัญหาและป้องกันอุทกภัยครั้งใหญ่ให้กับจังหวัดชุมพรเมื่อปี 2540 และยังเป็นแหล่งน้ำสำรองขนาดใหญ่ที่เกื้อหนุนภาคการเกษตร ซึ่งจะทำให้เข้าใจภาพรวมการบริหารจัดการน้ำและความเชื่อมโยงกันระหว่าง "ป่า" กับ "น้ำ"
นอกจากนี้ยังจะได้เรียนรู้จากการบรรยายในหัวข้อ "เดินตามรอยพ่อ สานต่อฝายมีชีวิต ลดวิกฤติปัญหาน้ำ" ครอบคลุมตั้งแต่วิธีการสร้างฝายให้แข็งแรง มีประสิทธิภาพในการซับน้ำ การใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่นในการทำฝาย อาทิ ไม้ไผ่, ไม้กระถิน, มูลสัตว์, ขุยมะพร้าว การกำหนดจุดที่ตั้งของฝายเพื่อชะลอการไหลของน้ำ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม และกักเก็บน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของคนในชุมชนได้ตลอดทั้งปี และช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาสมบูรณ์
ภายใต้กิจกรรมนี้ ยังจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การพัฒนาป่าตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็น "ศาสตร์พระราชา" ที่ป่าชุมชนทุกแห่งน้อมนำมาเป็นหลักปฏิบัติโดยจะดำเนินการในรูปแบบของฐานการเรียนรู้ "เกาะเลข ๙" ที่สั่งสมจากประสบการณ์ของ 8 อำเภอในจังหวัดชุมพร ประกอบด้วย 1.การเผาถ่านและน้ำส้มควันไม้ 2.การลดต้นทุนการผลิต 3.คนมีน้ำยา (แปรรูปผลผลิตเป็นสบู่ น้ำยาล้างจาน ฯลฯ) 4.จุลินทรีย์ก้อน 5.ไบโอดีเซล 6.การเลี้ยงไส้เดือน 7.ปุ๋ยอินทรีย์ 8.คนอยู่กับป่า (บ้านเล็กในป่าใหญ่)การสัมมนาเครือข่ายผู้นำป่าชุมชน ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 10 มีผู้นำป่าชุมชนเข้าร่วมกว่า 1,500 คน มุ่งหมาย "ปลูกป่าในใจคน" สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพื่อเป็นกำลังในการรักษา ฟื้นฟู และดูแลป่าไม้อย่างยั่งยืน