ทั้งนี้การแข่งขันแบ่งเป็น 2 รอบ คือ เมนูสร้างสรรค์จากหอยแมลงภู่นิวซีแลนด์ และ เมนูสร้างสรรค์วัตถุดิบปริศนา (Black Box) ใช้เวลาการแข่งขันรอบละ 45 นาที ผู้ชนะเลิศได้รางวัลการศึกษาดูงานหลักสูตรการประกอบอาหารที่ และ Otago Polytechnic Central Campus ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศนิวซีแลนด์ และประกาศนียบัตรจากเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย มูลค่ารวมกว่า 380,000 บาท โดยผู้ชนะเลิศที่ทั้ง 2 คน คือ
น้องลูกจรรย์-นางสาวบุญยวีร์ ภาคย์วิศาล เรียนอยู่ ชั้นม.5 Grade 11 โรงเรียนนานาชาติกรุงเทพ (International School of Bangkok) ผู้ชนะเลิศในรอบเมนูสร้างสรรค์จากหอยแมลงภู่นิวซีแลนด์ ในชื่อ The Jewels of New Zealand "คอนเซ็ปต์ก็คือ อัญมณีของประเทศนิวซีแลนด์ค่ะ หนูพยายามนำจุดเด่นต่างๆของนิวซีแลนด์มารวมกันในอาหารจานนี้ค่ะ อัญมณีที่หนึ่งก็คือหอยแมลงภู่ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่โดดเด่นของประเทศ นอกจากนั้นหนูก็ทำให้มันเหมือนกับอัญมณีจริงๆด้วยการมาห่อแป้งเพื่อให้ดูเงางาม และมีความใสค่ะ อัญมณีที่สองก็คือตัวซอสซึ่งหนูตั้งชื่อว่า Chili Rotorua sauce ค่ะ ซอสนี้มีสีสันและรสชาติที่เผ็ดร้อนเปรียบเหมือนบ่อน้ำร้อน Rotorua ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของประเทศนิวซีแลนด์ค่ะ ส่วนอัญมณีที่สามก็คือกีวี่ซึ่งเป็นผลไม้ประจำชาติก็ว่าได้ ซึ่งหนูก็ได้นำกีวี่มาทำเป็น kiwi jelly ค่ะ เมนูนี้ก็ประกอบด้วยหอยที่เอาไปยัดไส้ด้วยเพสโต้ชีส ห่อด้วยแป้ง dumpling เสริฟกับซอส chili rotorua, มูสฟักทอง, เยลลี่กีวี่, แผ่นชีสกรอบ และถั่วพิสตาชิโอ้ค่ะ หนูคิดว่าที่เมนูนี้ชนะเพราะว่าคอนเซ็ปต์มันน่าจะมีความสร้างสรรค์ แล้วก็อาจเป็นเมนูที่แปลกและแตกต่างหน่อย และก็คิดว่ารสชาติพอทานทุกอย่างรวมกันแล้วมันลงตัวพอดีค่ะ" น้องลูกจรรย์ กล่าว
และ น้องพริม-นางสาวพริมา ณ ป้อมเพ็ชร์ (Prim-Parima Na Pompetch) ชั้นม. 6 โรงเรียนราชินีบน (Grade12) ผู้ชนะเลิศเมนูสร้างสรรค์วัตถุดิบปริศนา (Black Box) คือฉู่ฉี่ปลาแซลมอน ที่น้องให้ชื่อเมนูว่า Simple Salmon "ที่เลือกชื่อนี้เพราะว่าเรารู้สึกว่าจานของเรามันดูธรรมดามากถ้าเทียบกับจานที่คนอื่นทำ แล้วการจัดจานของเราก็ยังไม่เก่งนัก ส่วนตัวแซลมอนที่ไม่ได้เอาลงไปคลุกกับตัวซอสฉู่ฉี่เพราะตั้งใจจะชูรสชาติของตัวเนื้อปลาให้ถึงที่สุด โดยเฉพาะเนื้อแซลมอนที่มีรสชาติดีอยู่ในตัวแล้ว ถ้าพูดถึงจุดเด่น ก็คงเป็นแซลมอนอีกล่ะค่ะ เราตั้งใจทำเนื้อของมันให้ออกมาแบบ Medium rare เพราะคิดว่าเนื้อสัมผัสคงเข้ากับซอสได้ดีค่ะ"
เชฟจำนงค์ นิรังสรรค์ นายกสมาคมพ่อครัวไทย หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน ให้คำแนะนำว่า ในการประกวดอาหาร ผู้เข้าร่วมแข่งขันต้องมีการเตรียมตัวและซักซ้อมให้คล่องให้ทันเวลา ที่สำคัญต้องตีโจทย์ในการแข่งขันให้ดีและทำตามโจทย์ สำหรับการแข่งขันที่ต้องเตรียมเครื่องปรุงและวัตถุดิบในการประกอบอาหาร มาเอง ควรตวงมาจากที่บ้าน เพื่อความรวดเร็ว
นางสาวช่อทิพย์ ประมูลผล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศนิวซีแลนด์มีสถาบันการศึกษาด้านการประกอบอาหารชั้นนำหลายแห่งที่เปิดรับนักเรียนและนักศึกษาจากทั่วโลก โดยการจัดโครงการ "นิวซีแลนด์ ยัง จีเนียส เชฟ เพื่อค้นหาเชฟวัยทีน...ที่มีใจรักในการทำอาหาร" ในครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะลงมือปฏิบัติจริงและเสริมศักยภาพในสิ่งที่ตนเองชอบ ซึ่งสอดคล้องกับระบบการศึกษาของนิวซีแลนด์ ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงและพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนค้นพบศักยภาพของตนเอง โดยวัตถุประสงค์หลักของการศึกษาในนิวซีแลนด์ คือ การเสริมสร้างพัฒนาการของผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยคณาจารย์จะให้ความสนใจและดูแลอย่างเต็มที่ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ เติบโต และประสบความสำเร็จ