นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า "ปัจจุบันการทำธุรกรรมด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์และการนำฟินเทคมาพัฒนาต่อยอดในไทยยังมีอุปสรรคสำคัญ คือ กฎหมายที่ยังไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยีและยังไม่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูลจำเป็นเท่าที่ควร ร่าง พ.ร.บ. ฟินเทค จะช่วยลดข้อจำกัดเหล่านี้ ทำให้ผู้ประกอบการทั้งรายปัจจุบันและฟินเทคสตาร์ทอัพสามารถนำนวัตกรรมมาให้บริการได้อย่างเป็นรูปธรรม และส่งเสริมให้ประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ"
ร่าง พ.ร.บ. ฟินเทคเน้นใน 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ (1) การเพิ่มความมั่นใจในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ว่ามีผลเทียบเท่ากับการทำธุรกรรมในแบบปกติโดยไม่ต้องกังวลว่ากฎหมายจะไม่รองรับอาทิ การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจภายใต้กำกับของ ก.ล.ต. การจองซื้อ ออก และส่งมอบหลักทรัพย์และการประชุมผู้ถือหุ้น เป็นต้น (2) การอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีหน้าที่ในการรู้จักตัวตนและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อมูลจำเป็นในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ (3) การรองรับการแสดงตนแบบ non-face-to-face ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และ (4) การอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจเข้าถึงข้อมูลที่ได้มีการปกปิดตัวตนแล้ว (anonymized data) ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน รวมถึงรองรับการเปิดเผย anonymized data โดยสมัครใจของภาครัฐและภาคเอกชนด้วย ซึ่งในท้ายที่สุดประโยชน์ของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะตกกับประชาชนที่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ยิ่งขึ้นได้อย่างกว้างขวางด้วยต้นทุนที่ต่ำลง
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ฟินเทคได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงก่อนเสนอตามกระบวนการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
"นอกจากร่าง พ.ร.บ. ข้างต้น ก.ล.ต. กำลังดำเนินการเพื่อขจัดอุปสรรคและส่งเสริมการนำฟินเทคมาให้บริการเพิ่มเติมด้วยการเปิดพื้นที่และการลดภาระจากกติกาต่าง ๆ ซึ่งไม่จำเป็นต่อการคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการควบคู่กันไปด้วย" นางทิพยสุดา กล่าว