รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวด้วยว่า กระทรวงเกษตรฯ มีแนวทางในการกำกับดูแล คือ สินค้าเกษตรที่อยู่ระหว่างการขอการรับรองมาตรฐานที่ตรวจพบการตกค้างที่เกินค่ามาตรฐาน กรมวิชาการเกษตรจะไม่ออกใบรับรองแหล่งผลิตพืชให้เกษตรกรรายนั้นๆ และต้องดำเนินการขอยื่นการขอรับรองใหม่ ส่วนสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานและตรวจพบการตกค้างที่เกินค่ามาตรฐาน กรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการแจ้งเตือนเกษตรกรให้ปรับปรุงระบบการผลิตพร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา หากแนวทางแก้ไขปรับปรุงไม่ได้ผลหรือไม่มีประสิทธิภาพและตรวจพบปัญหาซ้ำ กรมวิชาการเกษตรจะพิจารณาให้พักใช้ใบรับรองแหล่งผลิตพืชต่อไป
ทางด้านนายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) กล่าวว่า ผักผลไม้ที่พบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน สูงกว่าผักผลไม้อื่น เช่น คะน้า พริก มะเขือเทศ ส้ม องุ่น เป็นต้น ซึ่งพบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานประมาณ 7% ของตัวอย่างทั้งหมด ในขณะที่ผักผลไม้บางชนิด เช่น กะเพรา โหระพา ผักชี ผักชีฝรั่ง มะม่วง ลำไย แก้วมังกร ฝรั่ง มังคุด เป็นต้น ซึ่งเป็นพืชที่ยังมีมาตรฐานสารพิษตกค้าง (MRLs) กำหนดไว้น้อยมาก ซึ่งผลการพบสารพิษตกค้างนั้น แม้พียงปริมาณน้อยๆ ก็สรุปว่าเกินมาตรฐานแล้ว
สินค้าที่พบสารตกค้างเกินมาตรฐานส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทพืชผักสวนครัว ซึ่งบริโภคในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีการเพาะปลูกในประเทศอื่นๆ จึงยังไม่มีข้อมูลการทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อกำหนดมาตรฐาน ในเรื่องนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช. จะเร่งดำเนินการกำหนดมาตรฐานตามหลักสากลร่วมกับกรมวิชาการเกษตร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับใช้ในการกำหนดค่ามาตรฐานต่อไป
"การที่พบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ในกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้ ไม่ได้หมายความว่าผักผลไม้เหล่านี้ ไม่สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย ผู้บริโภคไม่ต้องวิตกกังวลในเรื่องความปลอดภัยผัก ผลไม้ จนเกินไป เพราะสารตกค้างนี้จะเกิดอันตรายต่อเมื่อผู้บริโภค บริโภคในปริมาณมาก นอกจากนี้การล้างผักผลไม้ก็ยังเป็นกระบวนสำคัญที่จะช่วยลดสารตกค้างเหล่านี้ได้" รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว
ส่วนนายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เปิดเผยว่า เพื่อประเมินความปลอดภัยของผู้บริโภค กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านอาหารของประเทศ มีบทบาทหน้าที่วิจัยพัฒนาองค์ความรู้ เฝ้าระวังคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร กำหนดมาตรฐานการวิเคราะห์และพัฒนาห้องปฏิบัติการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ในปี 2560 ได้ดำเนินการศึกษาปริมาณสารพิษตกค้างที่ผู้บริโภคได้รับจริงจากอาหาร ที่เรียกว่า "Total Diet Study" ซึ่งเป็นการประเมินการได้รับสัมผัสที่องค์การอนามัยโลกยอมรับว่าเป็นการศึกษาที่ให้ข้อมูลที่แสดงการได้รับสารพิษจากอาหารได้อย่างแม่นยำใกล้เคียงความเป็นจริงเพื่อประเมินความเสี่ยงของคนไทย โดยเก็บตัวอย่างอาหารครอบคลุมทั่วทุกภาคตามข้อมูลผู้บริโภคของประเทศไทยมาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการที่สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยตรวจวิเคราะห์สารพิษสารปนเปื้อน ทั้ง 5 ประเภท ได้แก่ 1) สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช 2) โลหะหนัก 3) สารกลุ่มไดออกซิน และสารกลุ่มพีซีปีที่มีโครงสร้างคล้ายไดออกซิน 4) สารกลุ่มพีเอเอช (polycyclic aromatic hydrocarbons, PAHs) และ5) ยาสัตว์ตกค้าง
นายแพทย์สมฤกษ์ ยืนยันด้วยว่า ผลการวิเคราะห์พบว่าคนไทยมีความปลอดภัยจากการได้รับสารพิษสารปนเปื้อนทั้ง 5 ประเภท จากอาหารที่บริโภค โดยสารพิษตกค้างชนิดที่พบสูงสุด พบเพียงไม่เกิน 15% ของค่าปลอดภัย และส่วนใหญ่พบไม่ถึง 1% ของค่าปลอดภัย ซึ่งหากพบสารพิษตกค้างมากกว่า 100% ของค่าปลอดภัย แสดงว่าผู้บริโภคจะได้รับอันตรายจากอาหารที่บริโภค บ่งชี้ว่าการปนเปื้อนโลหะหนักจากอุตสาหกรรมการผลิตภาคเกษตร และการกำกับดูแลควบคุมการใช้สารเคมีต่างๆ ที่เป็นปัจจัยการผลิตของประเทศไทยมีประสิทธิภาพ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องในการเฝ้าระวังปัญหาดังกล่าว และพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในปีงบประมาณ 2561 กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินงานบูรณาการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยจะดำเนินการโครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ภายใต้นโยบาย Green & Clean Hospital ช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัยและสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกรในการผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานอีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ ในระยะต่อไป กระทรวงเกษตรฯ และ กระทรวงสาธารณสุข จะร่วมมือกันในการเฝ้าระวังความปลอดภัยของผู้บริโภค ทั้งจากแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่ายอย่างเข้มข้น ใกล้ชิดและต่อเนื่องต่อไป