อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้แนะแนวทางการดูแลจิตใจสำหรับ Helper ดังนี้ 1. ปลอดภัยไว้ก่อน หาที่ตั้งทำงานที่สะดวกและปลอดภัยต่อการทำงาน ทำงานสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเพื่อลดความล้าทางกายที่ส่งผลทางจิตใจ 2.ทบทวนการปฏิบัติงาน ประสบการณ์และการเรียนรู้หลังเสร็จสิ้นการทำงาน เพื่อให้รู้สึกมีคุณค่าที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น 3.แบ่งปันประสบการณ์ที่เกิดขึ้นของตนเองและผู้อื่น อย่าเก็บไว้คนเดียว 4.พักยก ใช้เวลาสงบหรือทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อผ่อนคลาย เช่น หลับตาแล้วหายใจเข้าออกช้าๆ ออกกำลังกายเบาๆ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ชอบ 5.สร้างบรรยากาศการทำงานที่ดูแลและเข้าใจกันและกัน ผู้ให้การช่วยเหลืออาจหงุดหงิดง่ายขึ้นและอาจมีเรื่องกระทบกันเอง การเข้าใจ ระบายความในใจ และใช้คำพูด ขอบคุณ หรือขอโทษบ้าง จะช่วยให้ดีขึ้น 6. มีความหวังที่เหมาะสม อย่างน้อยก็มีคุณค่าที่ได้ทำงานช่วยเหลือคนอื่น ถึงแม้จะไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ก็ตาม แต่ทุกอย่างจะค่อยๆ ดีขึ้นเสมอ 7. พูดคุยขอความช่วยเหลือ ถ้ารู้สึกเหนื่อยล้า การไปนั่งพักหรือพูดคุยกับทีมหรือผู้บังคับบัญชาเพื่อขอความช่วยเหลือ จะช่วยทำให้พลังการทำงานดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาทางจิตใจที่เป็นผลมาจากความเครียดจะค่อยๆ หายไปเองใน 2-4 สัปดาห์ เมื่อเวลาผ่านไป ถ้าอาการเหล่านี้ รบกวนการทำงานหรือสร้างความเครียดให้เกิดขึ้น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ใจสั่น ควรปรึกษาแพทย์ที่หน่วยเคลื่อนที่ สถานพยาบาลที่อยู่ใกล้หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
"ขอให้พึงระลึกเสมอว่า การปฏิบัติงานอันใหญ่หลวงในครั้งนี้ เป็นการรวมพลังเพื่อสืบสานพระราชปณิธานอย่างสุดกำลังความสามารถ ขอจงภูมิใจที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยความจงรักภักดี ด้วยความรักและเทิดทูนในสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมพลัง กันทำความดี ถวายเป็นพระราชกุศล ประคับประคองจิตใจพี่น้องชาวไทยให้ก้าวผ่านห้วงเวลาแห่งความทุกข์โศกนี้ไปด้วยกัน" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว