อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ในการคัดกรองผู้ป่วยทางจิต เพื่อเฝ้าระวัง ที่จุดคัดกรองและจิตอาสานั้น เบื้องต้น จะสังเกตจาก การแต่งกาย เช่น เสื้อผ้ายับ สกปรก มีรอยเปื้อน หรือแต่งตัวแปลก ฉูดฉาด ไม่เหมาะสมเหมือนคนทั่วไป ผมเผ้ายุ่งเหยิง สกปรก มีกลิ่น มีท่าทางแปลกประหลาด เช่น พูดคนเดียว ทำไม้ทำมือ เมื่อชวนคุยแล้ว ถามตอบไม่ตรงประเด็น ไม่รู้เรื่อง ซึ่งไม่เกี่ยวกับภาษา หรือวัฒนธรรมที่แตกต่าง มีอาการเมา หรือ มีกลิ่นสุรา หากพบว่ามีข้อใดข้อหนึ่ง จะนำเข้าสู่ระบบการประเมินความเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคจิตเวช ที่ขาดยา อาการกำเริบ ผู้ป่วยที่มีโรคทางสมองหรือทางกาย ผู้ป่วยที่ใช้หรือถอนสุรา ผู้ที่ติดหรือใช้ยาเสพติดบางชนิดอย่างหนัก เช่น ยาบ้าฯลฯ โดยจะประเมินจากระดับความรุนแรงของพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ระดับรุนแรงมาก เช่น มีการทำร้ายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บ ทำลายข้าวของ ทุบกระจก ขว้างปาสิ่งของ เปลือยกาย และมีอาวุธพร้อมทำร้ายคนอื่น ระดับรุนแรงปานกลาง เช่น ด่าหยาบคาย แสดงท่าทางคุกคาม หงุดหงิด พูดจาข่มขู่ ท่าทางไม่เป็นมิตร และ ระดับรุนแรงน้อย เช่น อารมณ์หงุดหงิด พูดจาชวนทะเลาะ หรือพูดไม่รู้เรื่อง จับใจความไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งจะดำเนินการควบคุมพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามระดับความเสี่ยง ในเบื้องต้นจะใช้วิธีเข้าไปพูดคุยเพื่อแยกจากฝูงชน ทำการสงบสติอารมณ์ กินยาหรือฉีดยา ให้ญาตินำออกหรือจัดการแยกออกนอกพื้นที่ หากรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก จะผูกยึดและส่งต่อไปยังสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ทั้งนี้ ยืนยันว่า ระบบการดูแลส่งต่อผู้ป่วยจิตเวชมีความพร้อมแล้วในการรองรับสถานการณ์ช่วงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ป่วยโรคจิตเวช หากจะเข้าร่วมงานพระราชพิธีฯ ควรประเมินความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจ ในเบื้องต้นก่อน และไม่ควรมาเพียงลำพัง ควรมีญาติมาด้วย รับประทานอาหารและพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพติดทุกชนิด พกซองยาที่มีชื่อตัวยามาด้วย ไม่ควรหยุดยาในช่วงที่มาร่วมพระราชพิธีฯ ถ้าลืมนำยาติดตัวมาหรือทำยาหายให้ติดต่อหน่วยทางการแพทย์ ตลอดจนเขียนชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ ญาติที่ติดต่อได้สะดวก เพื่อป้องกันการ พลัดหลง เป็นต้น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว