ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 24 วันที่ 20 – 21 ตุลาคม 2560 ณ เมืองฮอยอัน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

จันทร์ ๓๐ ตุลาคม ๒๐๑๗ ๑๐:๒๙
นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers' Meeting: APEC FMM) ครั้งที่ 24 ในระหว่างวันที่ 20 - 21 ตุลาคม 2560 ณ เมืองฮอยอัน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (นาย Dinh Tien Dung) เป็นประธาน พร้อมกับผู้แทนระดับสูงจากสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ และองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) กลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) โดยการประชุมในปีนี้มีแนวคิดหลัก (Theme) ของการประชุมคือ การเสริมสร้างพลวัตใหม่และการสร้างอนาคตร่วมกัน (Creating New Dynamism, Fostering Shared Future) โดยมีการหารือที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและภูมิภาค โดยที่ประชุมเห็นว่าเศรษฐกิจโลกในระยะสั้นมีแนวโน้มฟื้นตัวตามการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) และเขตเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว (Advanced Economies) อย่างไรก็ดี สำหรับระยะปานกลาง เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญความท้าทายต่าง ๆ อาทิ ภาวะตลาดเงินที่ตึงตัวมากขึ้น การชะลอตัวในภาคการผลิต และความเสี่ยงจากประเด็นทางการเมือง (Geopolitical Risks) เป็นต้น ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเปคยังคงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โดย ADB และ APEC Policy Support Unit คาดว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเปคในปี 2560 จะขยายตัวร้อยละ 3.4 - 3.8 จากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 ตามการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยที่ประชุมสนับสนุนให้สมาชิกเอเปคจะต้องร่วมมือกันในการดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงและทั่วถึงในภาคการคลัง การเงิน และการปฏิรูปโครงสร้างต่าง ๆ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในระยะปานกลาง

2. การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเซบู โดยที่ประชุมสนับสนุนให้สมาชิกเอเปคดำเนินการตามแผนกลยุทธ์การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเซบู (Strategy of Implementation of Cebu Action Plan) อย่างต่อเนื่องซึ่งสมาชิกเอเปคสามารถเลือกดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ (Voluntary Basis) ให้เหมาะสมกับบริบทภายในของแต่ละเขตเศรษฐกิจ โดยไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย ทั้งนี้ ที่ประชุมขอให้องค์กรระหว่างประเทศและกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ภายใต้เอเปค (APEC sub-fora) ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคเพื่อสนับสนุนให้การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเซบูของสมาชิกเอเปคมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ยิ่งขึ้น

3. ในการประชุม APEC FMM ครั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือใน 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย

3.1 การลงทุนระยะยาวในโครงสร้างพื้นฐาน (Long - term Investment in Infrastructure) เนื่องจากเห็นว่าการมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและเพียงพอจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และเห็นว่าบทบาทของภาคเอกชนในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานผ่านการดำเนินโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) เป็นสิ่งจำเป็นจึงต้องมีการดำเนินการจัดสรรความเสี่ยงระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนให้เหมาะสม มีการนำเครื่องมือในการลดความเสี่ยงมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างแรงจูงใจแก่ภาคเอกชนในการเข้าร่วมลงทุน นอกจากนี้ สมาชิกเอเปคยินดีที่จะร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ในการศึกษาถึงแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อยกระดับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพในภูมิภาคเอเปค

3.2 การป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไรไปต่างประเทศ (Base Erosion and Profit Shifting: BEPS) โดยเห็นว่าการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางเกี่ยวกับการพัฒนานโยบายภาษีและการยกร่างกฎหมายเพื่อรับมือกับปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศโดยเฉพาะ BEPS มีความจำเป็น นอกจากนี้ สมาชิกเอเปคยินดีที่จะร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับ Inclusive Framework ซึ่งเป็นกลไกในการนำมาตรฐานขั้นต่ำ (Minimum Standards) ของแผนปฏิบัติการภายใต้ BEPS มาประยุกต์ใช้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน และสมาชิกเอเปคจะผลักดันความร่วมมือในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่องในปี 2561 พร้อมทั้งยินดีที่องค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ จะให้การสนับสนุนสมาชิกเอเปคในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ BEPS

3.3 การบริหารความเสี่ยงและการประกันภัยเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Disaster Risk Financing and Insurance) โดยการพัฒนากรอบด้านกฎหมายและสถาบันเกี่ยวกับการประกันภัยมีความสำคัญต่อการดำเนินการเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการจัดการกับภาระผูกพันของรัฐบาล (Contingent Liabilities) ที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงการจัดทำฐานข้อมูลความเสี่ยงทางภัยพิบัติ เพื่อที่จะได้ประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติในอนาคตและจัดเตรียมกลไกทางการเงินเพื่อรองรับผลกระทบจากภัยพิบัติดังกล่าว พร้อมทั้งยินดีที่องค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญในเรื่องนี้และได้ร่วมกับสมาชิกเอเปคศึกษาถึงแนวทางที่เหมาะสมเพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติ

3.4 การเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) โดยสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างสมาชิกเอเปคและองค์กรระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาการบริการทางการเงินอย่างยั่งยืนและทั่วถึงในภูมิภาค โดยเฉพาะการสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินในภาคเกษตรกรรมและชนบท อาทิ การสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงบริการทางการเงินของทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ การพัฒนาระบบการชำระเงินดิจิทัล และการส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงิน เป็นต้น เพื่อยกระดับการให้บริการทางการเงินอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้

4. การประชุม ABAC's Executive Dialogues with APEC Finance Ministers เป็นการประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ผู้แทนระดับสูงจากสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) และผู้บริหารจากภาคเอกชน เพื่อหารือในประเด็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งที่ประชุมสนับสนุนให้เพิ่มระดับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคเอเปคผ่านการร่วมลงทุนของภาคเอกชน(PPP) พร้อมทั้งพัฒนากฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อรองรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ รวมถึงสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำบทบาทที่สำคัญของเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) เพื่อให้การเข้าถึงบริการทางการเงินเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีเสถียรภาพมากขึ้นโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

5. การประชุมทวิภาคี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีการหารือทวิภาคีกับนาย Paul Chan Mo-Po รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง นาย David R. Malpass ปลัดกระทรวงการคลังด้านกิจการระหว่างประเทศ (Under Secretary for International Affairs) ของสหรัฐอเมริกา และนาย Scott Morrison รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของออสเตรเลีย โดยได้แลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจระหว่างกัน โดยส่วนใหญ่แสดงความชื่นชมและยินดีที่ประเทศไทยมีสถานการณ์ทางเศรษฐกิจดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แจ้งว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่ตามที่คาดหวัง ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งในด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศ เพื่อยกระดับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่อไป

ทั้งนี้ การประชุม APEC FMM ครั้งที่ 25 จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2561 ณ ประเทศปาปัวนิวกินี

สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3613

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO