ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ปัญหาของสายตาที่ผิดปกติแต่ละประเภทเกิดจากอะไรบ้าง
1. สายตาสั้น
เกิดจากกำลังการรวมแสงของตามากเกินไป อาจเกิดจากกระจกตาโค้งมากเกินไป หรือขนาดลูกตายาวเกินไป เมื่อมองวัตถุที่อยู่ไกล แสงรวมก่อนถึงจอประสาทตาทำให้มองเห็นวัตถุที่อยู่ไกลไม่ชัดเจน แต่สามารถมองใกล้ได้ดี
การแก้ไข - ใช้เลนส์เว้าช่วยลดกำลังการรวมแสงที่มีมากเกินไปเพื่อให้สามารถมองไกลได้ดี
2. สายตายาวโดยกำเนิด (เกิดตั้งแต่กำเนิด)
เกิดจากกำลังการรวมแสงของตาน้อยเกินไป อาจเกิดจากกระจกตาแบนเกินไป หรือขนาดลูกตาสั้นไป แสงตกหลังจอประสาทตา ทำให้มองไม่ชัดทั้งใกล้ และไกล
การแก้ไข - ใช้เลนส์นูนเพิ่มกำลังการรวมแสงเพื่อให้สามารถมองเห็นได้ดีทั้งใกล้ และไกล
3. สายตาเอียง
เกิดจากกำลังการรวมแสงของตาในแนวต่างๆ ไม่เท่ากัน มักเกิดจากกระจกตาไม่กลม มักเกิดร่วมกับภาวะสายตาสั้น หรือยาวโดยกำเนิด ทำให้เห็นภาพซ้อน ผู้ที่มีสายตาสั้นร่วมกับสายตาเอียง จะยังคงมองใกล้ได้ดีกว่ามองไกล แต่ภาพที่เห็นจะไม่ชัดเจนแม้ว่าจะใกล้ก็ตาม
การแก้ไข - ใช้เลนส์ชนิดพิเศษเรียกว่า cylindrical lens เพื่อใช้ปรับกำลังการรวมแสงที่แตกต่างกันในแต่ละแนว ทั้งระยะใกล้ และไกล
4. สายตายาวตามอายุ (เกิดตามวัยที่มากขึ้น)
เริ่มพบได้ในอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เกิดจากความเสื่อมของกล้ามเนื้อตาที่ใช้ในการมองใกล้ ซึ่งต่างจากสายตายาวโดยกำเนิดตรงที่ สายตายาวตามอายุจะมีปัญหาในการมองใกล้เท่านั้น ส่วนสายตายาวโดยกำเนิดจะมีปัญหาทั้งการมองทั้งใกล้ และไกล
ฉะนั้นผู้ที่มีสายตายาวโดยกำเนิด จำเป็นต้องใช้แว่นเพื่อใช้มองทั้งใกล้ และไกล ส่วนผู้ที่มีสายตายาวตามอายุ ใส่แว่นเฉพาะเมื่อต้องใช้สายตาในการมองใกล้เท่านั้น
เห็นได้ว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะสายตาผิดปกติ จะแตกต่างกันตามลักษณะทางกายภาพของแต่ละบุคคล ดังนั้นสรุปได้ว่า สายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด สายตาเอียง เกิดจากความผิดปกติทางกายภาพของกระจกตา และความยาวของลูกตา แต่สายตายาวตามอายุเกิดจากความเสื่อมของกล้ามเนื้อตาที่เกิดขึ้นตามวัยที่มากขึ้น ฉะนั้นความเข้าใจว่า หากมีค่าสายตาสั้น เมื่ออายุมากขึ้นสายตาจะกลับมาปกติ หรือสามารถมาทดแทนกันได้นั้น ไม่จริงค่ะ
แล้วถ้าหากคนสายตาสั้น เมื่ออายุมากขึ้นสายตาจะเป็นยังไง ? .....มีโอกาสที่คนๆ นี้จะมีทั้งค่าสายตาสั้น และยาวตามอายุร่วมด้วยค่ะ ผู้ที่มีสองภาวะสายตา คือ สายตาสั้น ร่วมกับสายตายาวตามอายุนั้น หากเป็นผู้ที่ใส่แว่น แก้ไขปัญหาสายตาสั้น เมื่อจะมองใกล้ ก็มักจะต้องถอดแว่นเพื่อมองใกล้ชัด หรืออาจจะใส่แว่นเลนส์ 2 ชั้น หรือแว่น Progressive เพื่อช่วยในการมองทั้งระยะไกล และมองใกล้ ส่วนผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ ก็มักจะต้องใส่แว่นอ่านหนังสือซ้อนกับคอนแทคเลนส์ เพื่อช่วยในการอ่านหนังสือ หรือมองใกล้ชัดขึ้น
คำถามที่ตามมาคือ หากไม่อยากใส่แว่น หรือคอนแทคเลนส์ จะมีวิธีรักษาผู้ที่มีทั้งค่าสายตาสั้น และยาวตามอายุร่วมด้วย เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่ ?.... ในปัจจุบัน มีการรักษาที่เรียกว่า Refractive Surgery ที่เข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับผู้ที่มีสองภาวะสายตาได้ โดยหนึ่งในทางเลือกของการรักษาคือ ทำให้เกิดภาวะ Monovision ซึ่งสามารถทำด้วยวิธี ReLEx , FemtoLASIK หรือ LASIK ก็ได้ หลักการคือ วิธีนี้จะแก้ไขสายตาในตาข้างเด่นเต็มที่ เพื่อทำให้มองไกลได้ดี ส่วนในตาข้างไม่เด่น จะมีการแก้ไขโดยตั้งใจให้เหลือภาวะสายตาสั้นไว้เล็กน้อย เพื่อใช้ประโยชน์ในการมองใกล้
สรุปง่ายๆ คือ ผู้ที่รักษาแล้วจะสามารถมองเห็นได้ทั้งใกล้ และไกล โดยลดการใช้แว่น หรือคอนแทคเลนส์ในชีวิตประจำวัน โดยวิธีนี้ผู้ที่จะเข้ารับการรักษาจะได้รับการตรวจประเมินสภาพตา โดยการจำลองการมองเห็นแบบ Monovision ด้วยการใส่แว่นแบบพิเศษ (Trial Frames) ซึ่งเป็นการจำลองการมองเห็นเสมือนกับการได้รับการรักษาแล้ว ว่าการมองเห็นดีหรือไม่ ก่อนจะตัดสินใจทำการรักษาจริง
ปัญหาเรื่องสายตาเกิดขึ้นได้กับทุกคน จึงเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด หมั่นดูแล และสังเกตตัวเอง หากพบว่าสายตามีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม ให้รีบปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อได้รับการรักษาทันที และควรตรวจสุขภาพตาประจำปี โดยผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจ 1 ปี/ครั้ง และผู้ที่อายุต่ำกว่า 40 ปี ควรตรวจ 2 ปี / ครั้ง เพื่อท่านจะได้ใช้ชีวิตสนุกกับทุกไลฟ์สไตล์อย่างเต็มที่ไร้กังวลเรื่องสายตาค่ะ