กยท.เปิดโต๊ะแถลง คลายปมประเด็นสถานการณ์ยางพารา พร้อม ย้ำ เดินหน้าสร้างเสถียรภาพราคายาง มุ่งประโยชน์สู่วงการยางพาราทั้งระบบ

พุธ ๐๑ พฤศจิกายน ๒๐๑๗ ๑๗:๔๗
นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย คลายปมประเด็นสถานการณ์ราคายางที่เกิดขึ้นว่า ราคายางเป็นไปตามกลไกการตลาด โดยจะปรับตัวขึ้นหรือลงขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อและขาย หากย้อนหลังไปในปี พ.ศ.2554 ราคายางพุ่งสูงขึ้นมากที่สุด เนื่องจากมีปริมาณความต้องการใช้ยางเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการเก็งกำไร ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ยางฟีเว่อร์ ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยที่มีการปลูกยางพาราเพิ่มมากขึ้น แต่หลายๆ ประเทศก็หันมาปลูกยางเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้พื้นที่ปลูกยางในช่วงปี 2553 – 2555 เพิ่มขึ้นประมาณ 11.9 ล้านไร่ ฉะนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ปลูกยางเหล่านี้ ซึ่งเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ประเทศผู้ปลูกยางรายใหม่มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้นจากปี2559 สูงมาก เช่น กัมพูชา ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 33.1 รองลงมา คือ อินเดีย ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 21.0 และ เวียดนาม ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 จะเห็นได้ว่า ปริมาณผลผลิตย่อมเข้าสู่ตลาดมากขึ้นเป็นทวีคูณ สะท้อนสู่ความเป็นจริงที่ว่า ผลผลิตยางล้นตลาด (over supply) และนี่คือสถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตยางที่จะต้องรับมือและแก้ปัญหา และในอนาคต ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น หากเราไม่ปรับวิธีคิด วิธีดำเนินงาน ก็ยังคงเผชิญอยู่กับวัฏจักรการขึ้นลงของราคาแบบเดิมๆ ซ้ำรอยปัญหาเดิมๆ ที่เป็นกับดักความยากจนของภาคเกษตร

"หากพิจารณาสถานการณ์ราคายางในประเทศระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ระดับราคายางในประเทศมีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันกับราคายางในตลาดล่วงหน้าทั้ง 3 ตลาดของต่างประเทศ (โตเกียว เซี่ยงไฮ้ ไซคอม) ที่มีการปรับตัวลดลงทุกตลาด นั่นหมายถึงไม่เพียงแค่ราคายางในประเทศเท่านั้นที่ปรับตัวลดลง แต่ราคาของตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าในต่างประเทศก็ปรับลดลงเช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยพื้นฐานโดยรวมของโลก และการซื้อขายทำกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้าทั่วโลก"

นายธีธัช กล่าวต่อว่า กระแสการวิพากษ์วิจารณ์ในการบริหารจัดการสถานการณ์ยางพาราที่เกิดขึ้น ก่อนอื่นอยากให้ผู้มีส่วนได้เสียในวงการยางพาราไทยทุกคนทำความเข้าใจก่อนว่าบทบาทหน้าที่หลักของ กยท. ในการบริหารจัดการยางพาราของทั้งระบบอย่างครบวงจร โดยเฉพาะประเด็น การพัฒนาระบบตลาดยางในประเทศ กยท.จะทำหน้าที่หลักในการสร้างให้เกิดความมีเสถียรภาพของราคา ลดความเสี่ยงทางการตลาด ฉะนั้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมา กยท.มีความพยายามลดความผันผวนของราคายางภายในประเทศผ่านมาตรการต่างๆ ซึ่งหลายมาตรการไม่เคยปรากฏมาก่อนในวงการยางพาราท่ามกลางสถานการณ์ตลาดโลกที่มีการราคาปรับตัวลดลง

- มาตรการบูรณาการระหว่างรัฐกับเอกชน โดยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด เป็นกลไกในการแก้ปัญหาราคาเพื่อให้เกิดเสถียรภาพซึ่งนำมาใช้ครั้งแรกในยุคนี้ ซึ่งเป็นกระบวนการให้เกิดราคาอ้างอิงที่ดีขึ้นอย่างเป็นธรรมสำหรับการซื้อขายในตลาดภาคเอกชนทั่วทุกพื้นที่ ด้วยวิธีการเข้าซื้อยางในราคาชี้นำ ณ ตลาดกลางยางพารา กยท.ทั้ง 6 แห่ง หมุนเวียนสับเปลี่ยนกัน และบริษัทร่วมทุนฯ จะนำยางพาราที่ประมูลได้ในแต่ละครั้ง นำไปแปรรูปเพื่อจำหน่ายสู่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ และตลาดต่างประเทศต่อไป ทั้งนี้ ในช่วงดำเนินการเริ่มต้น จะต้องมีการปรับเปลี่ยน ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เช่น ในกรณีการขนย้ายยางออกนอกตลาดกลางหลังจากประมูลได้ จะต้องใช้ระยะเวลาและเอกสารในกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ภายใต้เจตนารมณ์ในการผลักดันให้มีราคาอ้างอิงที่สูงขึ้นและเป็นธรรมสูงสุดทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง

- มาตรการในการสร้างเสถียรภาพยางโดยเพิ่มกำลังซื้อและบริหารจัดการตลาดยางของ กยท. ซึ่งได้มีการกำหนดระเบียบตลาดยางพาราในการประมูลยางผ่านตลาดกลาง กยท. โดยมีการประกาศราคากลางเปิดการซื้อขายแต่ละวันทำการ (Spot market) จะทำให้การซื้อขายเป็นระบบและมีมาตรฐานในการอ้างอิงราคาอย่างเป็นธรรม ซึ่งการประมูลแบบนี้ จะไม่สูงหรือต่ำกว่าราคากลางเกินกว่า 2 บาท ตามดุลยพินิจแต่ละตลาด เพื่อผลักดันให้ราคายางมีเสถียรภาพ และลดปัญหาการปรับตัวขึ้นลงอย่างรุนแรง และที่สำคัญ ราคากลางที่ประกาศจากตลาดกลาง กยท. เป็นราคาที่ไม่รวมค่าขนส่ง และที่สำคัญ เรื่องคุณภาพ และน้ำหนักของยางชนิดต่างๆ ล้วนได้รับการตรวจสอบการคัดคุณภาพอย่างมาตรฐาน ผ่านกระบวนการซื้อขายที่เป็นธรรม และโปร่งใส สิ่งเหล่านี้ จะสร้างความเชื่อมั่นและยอมรับจากผู้ซื้อยางทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ได้มีการเพิ่มทางเลือกแก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ต้องการขายยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน สามารถขายผลผลิตผ่านตลาดประมูลยางล่วงหน้าของตลาดกลาง กยท. (Forward market) ซึ่งจะส่งมอบสินค้าจริงตามจำนวนและคุณภาพตามที่ตกลงไว้ ภายใน 7 วัน หลังการประมูลสิ้นสุด การพัฒนาระบบเหล่านี้ ทำให้ กยท.มีการปิดตลาดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการเพิ่มกำลังซื้อเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญการบริหารจัดการตลาดยางของ กยท.ให้มีมาตรฐาน เพื่อให้สินค้าที่มาจำหน่ายและจัดเก็บมีคุณภาพ ตลอดจนการบริการที่ให้ความสะดวก รวดเร็ว แก่ผู้มาใช้บริการทั้งเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มช่องทางพิเศษสำหรับสินค้าที่ผ่านมาตรฐาน GMP และจะลดขั้นตอนในเรื่องการคัดชั้นคุณภาพ

- การตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์ยางพารา กยท.ได้จัดตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์ยางพารา กยท. เพื่อเฝ้าติดตามข่าวสารยางพารา การซื้อขายยางพาราและสถานการณ์ราคายางผันผวน ให้ทั้งภาคเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยางสามารถสื่อสารได้โดยตรง และการพัฒนาตลาดเครือข่าย ซึ่งมีสถาบันเกษตรกรรวบรวมผลผลิตยางพาราจากสมาชิก สามารถสมัครเป็นเครือข่ายของตลาดยางพารา กยท. ได้ โดยจะต้องให้บริการซื้อขายยางภายใต้กฎและข้อระเบียบที่ตลาดยางพารา กยท.กำหนดไว้ ทั้งนี้ สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมเป็นตลาดเครือข่าย จะซื้อขายผลผลิตในราคาที่ประมูลเสมือนเป็นการขายที่ตลาดยางพารา กยท. ซึ่งจะเป็นเครื่องมือการตลาดที่สำคัญที่เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยจะสามารถขายผลผลิตได้ในราคาเป็นธรรม ขณะนี้ มีหลายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าสู่ระบบตลาดเครือข่ายแล้ว

ในขณะที่ภาครัฐ มีนโยบายและมาตรการในการส่งเสริมและสนับสนุนแก่ทุกภาคส่วนในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาอาชีพการทำสวนยาง ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าการใช้ยางให้มากยิ่งขึ้น เพื่อกระตุ้นความต้องการใช้และส่งผลต่อราคายางในที่สุด ได้แก่

- โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง สิ้นสุดโครงการเมื่อเดือนกันยายน 2560 ซึ่ง กยท. ได้จ่ายเงินแก่เกษตรกรเจ้าของสวนยาง เป็นเงิน 6,436,077,525 บาท จำนวน 715,336 ครัวเรือน และจ่ายเงินแก่เกษตรกรคนกรีดยาง เป็นเงิน 4,094,461,350 บาท จำนวน 678,642 ครัวเรือน

- โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพาราภายใต้แนวทางยางพาราทั้งระบบ มีกรอบวงเงินสินเชื่อเดิม 10,000 ล้านบาท ขยายระยะเวลา โดยโครงการนี้ได้ขยายระยะเวลาไปจนถึง 31 มีนาคม 2563 โดยระยะเวลาจ่ายเงินกู้เริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2560 ถึง 31 ธันวาคม 2562 จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในการแปรรูปเพิ่มมูลค่ายางมากยิ่งขึ้น มีสถาบันเกษตรกรรวม 367 แห่งเข้าร่วมโครงการ สามารถรวบรวมและรับซื้อผลผลิตประมาณ 1.293 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 55.88 ล้านบาท

- โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลสนับสนุนการชดเชยดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี จำนวนไม่เกิน 300 ล้านบาท ซึ่งมีเป้าหมายในการดูดซับน้ำยางออกจากระบบโดยเร็วที่สุด เพื่อช่วยให้ราคาอยู่ในระดับที่พึงพอใจของเกษตรกรมากขึ้น ระยะเวลาโครงการตั้งแต่ พฤษภาคม 2560 – เมษายน 2562

- โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่สามารถดูดซับปริมาณยางแผ่นในประเทศ ขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย พร้อมกันนี้ กยท.ได้เสนอขอขยายเวลา การรับสมัครผู้เข้าร่วม "โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยางผลิตภัณฑ์ยาง วงเงิน 15,000 ล้านบาท" ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ต่อไป

- ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายในปีงบประมาณ 2561 มีการขับเคลื่อนโครงการสำคัญ เพื่อสร้างเสถียรภาพราคา และสร้างความมั่นคงให้แก่ผู้ปลูกยาง ภายใต้กลยุทธ์ 1 ลด 3 เพิ่ม

ลด คือ ลดพื้นที่ปลูกยางที่ไม่เหมาะสม เพื่อจำกัดปริมาณผลผลิตให้มีความสมดุลกับความต้องการใช้ จะส่งผลต่อราคายาง เป้าหมายปีละ 400,000 ไร่ โดย

เพิ่ม 1 คือ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางด้วยระบบการปลูกยางแบบผสมผสานตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งหมายถึง การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยาง ปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นการปลูกยางแบบผสมผสาน ปีที่ผ่านมา มีเกษตรกรชาวสวนยางที่โค่นยางแล้วปลูกใหม่จำนวน 42,036 ราย คิดเป็นพื้นที่ 422,728.50 ไร่ หันมาปลูกแบบผสมผสานมากยิ่งขึ้นประมาณร้อยละ 7 ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมดที่โค่นยางแล้วปลูกใหม่ คิดเป็นจำนวน 3,043 ราย พื้นที่ 32,315.30 ไร่ นอกจากนี้ เกษตรกรชาวสวนยางที่ปลูกยางอยู่แล้ว ต้องการสร้างรายได้เสริม เช่น ปศุสัตว์ ประมง พืชผักสวนครัว พืชร่วมยาง เป็นต้น มีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 521 ราย คิดเป็นเงิน 21,486,500 บาท

เพิ่ม 2 คือ เพิ่มการใช้ยางพาราภายในประเทศ โดยภาครัฐนำร่องการนำยางพาราไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปี 2561 นี้ หน่วยงานรัฐได้มีการแจ้งความประสงค์ในการนำยางไปใช้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ แบ่งเป็นน้ำยางข้น จำนวน 9,916.832 ตัน ยางแห้ง จำนวน 1,132.3895 ตัน คิดเป็นเงินงบประมาณรวม 11,583,115,494.570 บาท ลดการพึ่งพิงการส่งออกในรูปแบบวัตถุดิบ มาเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ ที่เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากทั้ง 3 ส่วนระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชนร่วมมือกันสนับสนุนการใช้ยางในประเทศ ก็จะเป็นการเพิ่ม 3 คือ เพิ่มรายได้ของคนในประเทศ มาจากมูลค่าเพิ่มที่ได้จากการแปรรูเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งการรณรงค์ใช้ภายในประเทศ และการส่งออกในรูปของผลิตภัณฑ์ยาง

"โครงการและมาตรการต่างๆ เหล่านี้ จะสามารถช่วยดูดซับปริมาณยางในระบบออกไปได้ เพราะในอดีตที่ผ่านมา หลายๆ รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนและผลกระทบที่เกิดตามมา จะสร้างความเสียหายเป็นภาระผูกพันมากมาย ฉะนั้น สิ่งที่ทำวันนี้ คือ การใช้กลไกตลาดดูดซับปริมาณยางออก เพื่อนำไปแปรรูปสร้าง มูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบ จะส่งผลดีต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง มีตลาดในการจำหน่ายวัตถุดิบ หากให้ระยะเวลาในการดำเนินการมาตรการ โครงการต่างๆ เหล่านี้ ท้ายสุด รัฐจะใช้งบประมาณแผ่นดินไม่มากนัก ผู้ประกอบการสามารถเข้าซื้อยางกับเกษตรกรได้ เกษตรกรได้ขายยาง จะเกิดภาวะสมดุล ไม่ต้องพึ่งพิงตลาดโลก สร้างความสุข และยั่งยืนให้แก่ยางพาราทั้งระบบ"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๔๑ องค์การอนามัยโลกจับมือประเทศไทย และ 194 ประเทศ เร่งสร้างฉันทมติดันความเสมอภาคสุขภาพช่องปากเป็นวาระโลก
๑๖:๔๔ กรมอนามัยลงพื้นที่จังหวัดสงขลา มอบรางวัลเชิดชูเกียรติเมืองสุขภาพดีระดับประเทศ และรางวัลเครือข่ายเมืองสุขภาพดีระดับภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก
๑๖:๐๑ EPG มั่นใจยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นในครึ่งหลังของปีบัญชี 67/68 (ต.ค.67 - มี.ค.68) เติบโตดีตามเป้าหมาย เตรียมจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 6 สตางค์ 9
๑๖:๒๔ 51Talk ส่งเด็กไทยเข้าร่วม COP29 การประชุมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บทพิสูจน์การสนับสนุนเยาวชนก้าวสู่เวทีระดับโลก
๑๖:๔๘ ORN เผยโค้งสุดท้ายปี 67 ฟอร์มดี โตต่อเนื่อง ลุยเปิด 3 โครงการใหม่บ้าน-คอนโดฯ มูลค่ารวม 3,070 ล้านบาท
๑๖:๓๓ Dog's Dream คอมมูนิตี้สนามสัตว์เลี้ยงสีเขียว ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
๑๖:๑๔ ฟูจิฟิล์ม บิสซิเนส อินโนเวชั่น ชูกลยุทธ์ Make a Leap to the New Stage ตอกย้ำพันธกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
๑๕:๔๓ กรุงศรี ขับเคลื่อนกลยุทธ์ GO ASEAN with krungsri ผสานความแข็งแกร่งและร่วมมือในเครือกรุงศรี MUFG และพันธมิตร
๑๕:๓๔ เผยสีสันแห่งการเฉลิมฉลองช่วงสิ้นปี ผ่านกระเช้าของขวัญจากโรงแรมเจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ
๑๕:๔๗ Netflix ส่งหนังไทยคว้าชัยระดับโลก! ออกแบบ-ชุติมณฑน์ คว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม บนเวที International Emmy Awards ครั้งที่ 52 จากผลงานเรื่อง HUNGER คนหิว