ดร.ธีธัช กล่าวว่า ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ในประเด็นสถานการณ์ยางพารา การคาดการณ์อุปสงค์และอุปทานของยางที่จะเกิดขึ้น รวมถึงประเด็นราคายางในปัจจุบันที่ไม่เป็นไปตามกลไกการตลาด และได้นำเอาปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมพิจารณา เช่น ปัจจัยสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นกับประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก ทั้ง 3 ประเทศจะส่งผลต่อปริมาณยางในตลาดโลกที่มีแนวโน้มจะลดลง ผลของปรากฏการณ์ลานินญ่า ที่จะทำให้เกิดฝนตกหนักมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตของยางในแต่ละประเทศ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2560 – มกราคม 2561 รวมถึงการมาถึงของฤดูหนาวที่เกิดขึ้นในระหว่างเดือน ตุลาคม – ธันวาคม 2560 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณยางในตลาดซื้อขายโลกลดลง เช่นกัน
ดร.ธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้มีการกล่าวถึง ปัจจัยที่ส่งผลให้ราคายางคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น เช่น การเติบโตของ GDP โลก คิดเป็นร้อยละ 3.6 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา รวมถึงการเพิ่มขึ้นของยอดขายรถยนต์ในตลาดหลัก เช่น จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.8, 3.7 และ 7.1 ตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อความต้องการใช้ยางธรรมชาติเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางล้อ รวมถึงปัจจัยด้านราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้น และการที่ทั้ง 3 ประเทศมีเป้าหมายจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศมากขึ้น โดยการนำยางไปสร้างถนนและทางยกระดับต่างๆ และอื่นๆ
"ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมีความเห็นร่วมกันว่า ทั้งสามประเทศจะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมจะดำเนินมาตรการเข้มข้นมากขึ้นร่วมกัน เพื่อช่วยผลักดันให้ราคายางกลับเข้าสู่ภาวะที่ควรจะเป็น อีกทั้ง ที่ประชุมเน้นว่า พร้อมจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยทั้ง 3 ประเทศ มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น" ดร.ธีธัช กล่าวทิ้งท้าย