นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.กล่าวว่า ผลการดำเนินงานด้านปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท.ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ในปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559 – กันยายน 2560) มีเที่ยวบินให้บริการทั้งสิ้น 823,574 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.00 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือเฉลี่ยประมาณ 2,250 เที่ยวบินต่อวัน แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 415,338 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.13 และเที่ยวบินภายในประเทศ 408,236 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.10 สำหรับผู้โดยสารที่ใช้บริการมีจำนวนทั้งสิ้น 129.20 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.73 หรือเฉลี่ยประมาณ 354,000 คนต่อวัน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 72.54 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.57 และผู้โดยสารภายในประเทศ 56.66 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.26 และการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์เข้าออก 1.57 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.89
สำหรับจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารแยกแต่ละท่าอากาศยานในปีงบประมาณ 2560 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ทสภ.มีเที่ยวบิน 345,767 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.75 แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 259,906 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.76 และเที่ยวบินภายในประเทศ 85,861 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.01และมีผู้โดยสาร 59.08 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.50 แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 48.00 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.39 และผู้โดยสารภายในประเทศ 11.08 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.76 ส่วน ทดม.มีเที่ยวบิน 253,544 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.38 แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 83,263 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.13 และเที่ยวบินภายในประเทศ 170,281 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.09 และผู้โดยสาร 37.18 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.19 แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 13.28 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.94 และผู้โดยสารภายในประเทศ 23.90 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.24 ที่ ทภก.มีเที่ยวบิน 104,849 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.38 และผู้โดยสาร 16.23 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.25 ด้าน ทชม.มีเที่ยวบิน 72,041 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.31 และมีผู้โดยสาร 9.97 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.31 ขณะที่ ทหญ.มีเที่ยวบิน 30,472 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.44 และผู้โดยสาร 4.34 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.29 และที่ ทชร.มีเที่ยวบิน 16,901 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.10 และผู้โดยสาร 2.38 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.74
นายนิตินัย ... นายนิตินัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เที่ยวบินระหว่างประเทศเติบโตทุกท่าอากาศยานยกเว้น ทหญ.ที่มีการเติบโต ในอัตราที่ลดลง ขณะที่ ทชร.มีจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ทชร.ได้เริ่มเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ส่วนเที่ยวบินภายในประเทศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งมีการเติบโตอย่างมาก ยกเว้นที่ ทดม. ที่มีการเติบโตเพียงเล็กน้อยเนื่องจากกลุ่มสายการบินต้นทุนต่ำลดความถี่ของจำนวนเที่ยวบินในเส้นทางบินภายใน ประเทศ และหันไปทำตลาดในเส้นทางบินระหว่างประเทศแทน ซึ่งการเติบโตของผู้โดยสารระหว่างประเทศและภายใน ประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับปริมาณเที่ยวบินของทุกท่าอากาศยาน โดยมีผู้โดยสารสัญชาติต่างชาติ ที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานของ ทอท.5 อันดับแรก ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย และมาเลเซีย และสายการบิน 5 อันดับแรกที่ใช้บริการท่าอากาศยานของ ทอท.แยกตามจำนวนผู้โดยสาร ได้แก่ สายการบินแอร์เอเชีย สายการบินไทย สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ สายการบินนกแอร์ และสายการบินบางกอกแอร์เวย์สทั้งนี้ เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2560
มีสายการบินที่ให้บริการเที่ยวบินประจำรวม 135 สายการบิน เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Carriers : LCCs) จำนวน 37 สายการบิน และให้บริการไปยังจุดหมายปลายทางกว่า 200 จุด แบ่งเป็นปลายทางต่างประเทศ จำนวนกว่า 170 จุด และปลายทางภายในประเทศกว่า 30 จุด เชื่อมต่อประเทศ 57 ประเทศทั่วโลก และสำหรับด้านการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์เข้าออกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่ ทสภ.มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12.45 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากการส่งออกปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และกลุ่มประเทศเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่ยังขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอื่นๆ ปรับตัวดีขึ้น
นอกจากนั้น จากกรณีที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ได้ปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในมาตรฐานการบินในระดับสากล ซึ่งนำไปสู่การขยายเส้นทางบินระหว่างประเทศของสายการบินสัญชาติไทย ทั้งในรูปแบบเส้นทางใหม่ และความถี่ของเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางบินไปยังประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละประเทศที่จะอนุญาตให้สายการบินสามารถขอเพิ่มความจุ และความถี่ของเที่ยวบินได้ ซึ่ง ทอท.ในฐานะผู้บริหารท่าอากาศยานหลัก 6 แห่งของประเทศมีความพร้อมในการรองรับการเติบโตของธุรกิจการบินด้วยการบริหารจัดการขีดความสามารถของท่าอากาศยานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด