สจล. ขานรับรัฐบาลเดินหน้าจัดตั้ง “มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล” เปิดสอนปี 61

อังคาร ๐๗ พฤศจิกายน ๒๐๑๗ ๑๒:๔๒
· "ศ.ดร.สุชัชวีร์" เร่งเครื่องจัดตั้ง "มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล" ในประเทศไทย เชื่อมั่นเป็นศูนย์กลางผลิตบุคลากรไทย ที่มีทักษะความสามารถรองรับการพัฒนาประเทศยุค 4.0

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยความคืบหน้าความร่วมมือการจัดตั้งมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) ในประเทศไทย ภายใต้ชื่อมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน เปิดดำเนินการในประเทศไทยได้ โดยเร่งดำเนินการให้เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้ทัน ในปีการศึกษา 2561 เป็นปีแรก นำร่องเปิดสอนหลักสูตรสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (Electrical and Computer Engineering) ในระดับปริญญาเอกและปริญญาโท และสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering) ในระดับปริญญาโท จากนั้นจึงจะขยายหลักสูตรเพิ่มเติมในปีการศึกษาถัดไป ทั้งนี้คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนเตรียมเดินทางสู่ประเทศไทยเพื่อประชุมเดินหน้า หลักสูตรและรูปแบบการบริหารจัดการ ในเดือน ธ.ค. นี้

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยความคืบหน้าการจัดตั้งมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) ในประเทศไทย โดยร่วมมือกับ สจล. บริหารจัดการและเปิดดำเนินการเรียนการสอน ในปีการศึกษา 2561 ว่า การจัดตั้งมหาวิทยาลัยต่างชาติในประเทศไทย เป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านวิชาการและทักษะความสามารถของบัณฑิตไทย รองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในอนาคต โดยหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็วๆ นี้ มีมติเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน เข้ามาเปิดดำเนินการในประเทศไทยร่วมกับ สจล. ภายใต้ชื่อว่า มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) ผู้บริหารทั้งสองสถาบันการศึกษาจึงได้เร่งดำเนินการตามแผนการจัดตั้งมหาวิทยาลัย เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้ทัน ในปีการศึกษา 2561 เป็นปีแรก โดยนำร่องเปิดสอนหลักสูตรสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (Electrical and Computer Engineering) ในระดับปริญญาเอกและปริญญาโท และสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering) ในระดับปริญญาโท จากนั้นจึงจะขยายหลักสูตรเพิ่มเติมในปีการศึกษาถัดไป

"ในช่วงต้นเดือน ธ.ค. นี้ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน จะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อร่วมหารือกับ สจล. พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าการจัดสร้างมหาวิทยาลัย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะผู้บริหาร สจล. ได้เดินทางไปยัง มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมหารือให้สามารถดำเนินการได้ตามแผนงานที่วางไว้ ซึ่งในส่วนของรายละเอียดหลักสูตรและรูปแบบการบริหารจัดการ จะมีการให้ข้อมูลอย่างเป็นทางการ ในช่วงที่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน เดินทางมาประเทศไทย" อธิการบดี สจล. กล่าว

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สจล. กับ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ยังมีความร่วมมือในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาไทยด้วย ได้แก่ การจัดทำโครงการวิจัยร่วมเพื่อตอบปัญหาของประเทศ (Collaborative Research) โดยโครงการวิจัยทุกโครงการจะใช้อาจารย์และนักวิจัยหลัก จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก มหาวิทยาลัยในประเทศไทย และภาคเอกชน ร่วมมือกันในลักษณะเป็นเครือข่ายนักวิจัยและถ่ายทอดความรู้ เพื่อสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีโอกาสต่อยอดทางธุรกิจขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย การแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักวิจัยเพื่อพัฒนาทักษะ (Faculty Exchange) การแลกเปลี่ยนบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ถือเป็นหนึ่งในการพัฒนาบุคลากรไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานโลก พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยขยับขึ้นเป็นศูนย์กลาง ด้านการวิจัยและนวัตกรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและบริษัทข้ามชาติ ในการเข้ามาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D Center) หรือการผลิตขั้นสูงในประเทศไทย

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเสริมว่า สำหรับแผนความร่วมมือระยะยาวนั้น ได้วางเป้าหมายผลผลิตที่วงการศึกษาไทยและประเทศชาติจะได้รับ แบ่งเป็น ผลิตนักศึกษาปริญญาเอก ไม่ต่ำกว่า 100 คน ผลิตนักศึกษาปริญญาโท ไม่ต่ำกว่า 250 คน พร้อมยกระดับคุณภาพอาจารย์และนักวิจัยไทยให้มีมาตรฐานระดับโลก สร้างโครงการวิจัยเพื่อต่อยอดเป็นวัตกรรมหรือมีศักยภาพเชิงพาณิชย์ และสร้างแพลตฟอร์มและเครือข่ายให้อาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา และบริษัทในประเทศไทย ได้เข้ามาเพิ่มพูนความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ กับอาจารย์และนักวิจัยด้านเทคโนโลยีระดับแนวหน้าของโลก จึงเชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง สจล. กับ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน จะช่วยยกระดับความรู้และทักษะแห่งโลกยุคใหม่ในทุกภาคส่วน ไม่เฉพาะด้านการศึกษาแต่ยังรวมไปถึงด้านการให้บริการและธุรกิจดิจิทัล ด้านโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่ง ด้านหุ่นยนต์สมองกลฝังตัวและการควบคุมจักรกลอัตโนมัติ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาขาวิชาที่ สจล. มีความพร้อมในการพัฒนาก้าวสู่การเป็นผู้นำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับโลกด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมศาสตร์และคอมพิวเตอร์

นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th หรือwww.cmkl.university

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ