นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึง กรณีการขอรับเงินสนับสนุนจากนโยบายรัฐในโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา ภายใต้แนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบ (5,000 ล้านบาท) ของสหกรณ์กองทุนสวนยางนาจะหลวย จำกัด จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งในกระบวนการพิจารณาโครงการต่างๆ ที่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางยื่นขอมานั้น จะมีคณะอนุกรรมการบริหารโครงการระดับจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และสหกรณ์จังหวัดเป็นเลขานุการ ฉะนั้น การขอกู้เงิน 25 ล้านบาท ต้องผ่านกระบวนการดังกล่าว และท้ายสุด ผู้พิจารณาอนุมัติสินเชื่อโครงการนี้ คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งอาจต้องขอความเห็นให้ ธ.ก.ส. นำมาพิจารณาหารือเร่งด่วนอีกครั้ง
นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สหกรณ์กองทุนสวนยางภูจอง-นาจะหลวย จำกัด ดำเนินการแปรรูปเป็นยางแท่ง ดังนั้น การขอเลขรหัสส่งออกในการประกอบกิจการโรงงานผลิตยางแท่ง จะต้องขอและได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 จากกองการยาง กรมวิชาการเกษตร โดยสิ่งที่ผู้ประกอบกิจการจะต้องขอใบอนุญาต ได้แก่ ใบอนุญาตค้ายาง ใบอนุญาตตั้งโรงค้ายาง ใบอนุญาตส่งออกยาง (กรณีต้องการส่งออก) และใบอนุญาตห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพยาง (กรณีต้องการทดสอบคุณภาพยางเอง แต่หากไม่ต้องการทดสอบเอง อาจใช้บริการของกองการยาง กรมวิชาการเกษตร หรือห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพยางอื่นๆ ที่ได้รับอนุญาตจากกองการยาง กรมวิชาการเกษตรแล้ว)
นอกจากนี้ หากกรณีผลิตและส่งออกเป็นยางคอมปาวด์ ผู้ประกอบการจะต้องส่งตัวอย่าง เพื่อให้การยางแห่งประเทศไทยตรวจสอบปริมาณยางธรรมชาติในยางคอมปาวด์ และนำไปคำนวณการชำระเงิน ค่าธรรมเนียมส่งออกยาง (Cess) ให้ตรงตามปริมาณเนื้อยางธรรมชาติ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ไม่ต้องได้รับอนุญาตหรือต้องมีเลขรหัสใดๆ ฉะนั้น การแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินที่สหกรณ์ฯ ประสบอยู่ จำเป็นที่หลายหน่วยงานต้องร่วมกันแก้ไข เพื่อให้สถาบันเกษตรกรสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ในด้าน กยท. มี กองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 (3) ที่จะสามารถช่วยเหลือสหกรณ์ได้ตามกรอบ และหลักเกณฑ์วิธีการใช้จ่ายที่กำหนดไว้ เพื่อใช้ในการปรับปรุงคุณภาพผลผลิต การแปรรูป และการตลาดต่างๆ ได้