ดร. นพดล ปิยะตระภูมิ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) เปิดเผยว่า ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาเรื่อง ""ทิศทางของไทยสู่การเป็นศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับโลก"" ในการประชุมสมาพันธ์เครื่องประดับโลกครั้งที่ 13 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพว่า อาชีพช่างทอง ช่างเจียระไนอัญมณีเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านานนับตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนมีพัฒนาการและขยายตัวเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถทำรายได้ส่งออกให้ประเทศในอันดับต้นๆ มาโดยตลอด ประเทศไทยจึงมีความพร้อมที่จะเป็นฮับในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของโลกภายในปี 2564 โดยรัฐบาลมีนโยบายที่จะสนับสนุนและผลักดัน ช่างฝีมือ คัดพลอย เจียระไน ที่มีจำนวนแรงงานรวมกันทั้งประเทศกว่า 1 ล้านคน โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ยกเว้น อากรขาเข้า แสวงหาพันธมิตรด้านแหล่งวัตถุดิบ หาตลาด
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ตอบรับนโยบายดังกล่าว ด้วยการยกระดับกำลังคนที่มีฝีมือ อาทิ ช่างเพชร ช่างทอง ที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ อันถือว่าเป็นมรดกที่ทรงคุณค่า สืบทอดฝีมือจากรุ่นสู่รุ่น ควรแก่การอนุรักษ์ แต่ขณะเดียวกันบุคลากรด้านนี้กำลังอยู่ในภาวะลดปริมาณลงจนขาดแคลน การออกใบรับรองมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพให้ผู้ประกอบอาชีพในธุรกิจอัญมณีตั้งแต่การออกแบบ ไปจนถึงพนักงานขายหน้าร้าน จะเป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนกำลังคนที่มีฝีมือได้ เพราะเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมนี้
""เมื่อเร็วๆนี้ สคช. จัดงานสัมมนา Stakeholder Engagement กว่า 40 อาชีพ ก็ได้มีผู้ประกอบในอุตสาหกรรมดังกล่าวร่วมงานสัมมนาและแสดงความจำนงให้ภาครัฐรับรองมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพให้กำลังคนที่อยู่ในสาขาวิชาชีพนี้ เพื่อตอกย้ำความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภคให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพของบุคลากรด้านนี้ว่ามีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง ตลอดจนเป็นที่ยอมรับสู่สากลในอนาคตอย่างแพร่หลายว่า หากต้องการซื้อหาอัญมณีและเครื่องประดับ ต้องมาที่ประเทศไทย "" ดร. นพดล กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2559 ประเทศไทยส่งออกอัญมณี เครื่องประดับ และทองคำ กว่า 501,107 ล้านบาท หรือ 3.49 % ของจีดีพี หรือเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 3 ของประเทศ และในปีนี้ตั้งเป้าขยายตัว 5%