กรมสุขภาพจิต แนะ ผู้ปกครอง และ ครู สอนเด็กป้องกันตัวเองจากการถูกกลั่นแกล้ง

อังคาร ๑๔ พฤศจิกายน ๒๐๑๗ ๑๕:๑๓
นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึง การกลั่นแกล้งหรือรังแกกัน ในโรงเรียน (Bullying) ที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้งในช่วงนี้ ว่า การกลั่นแกล้งหรือรังแกกันในโรงเรียนเป็นพฤติกรรมรุนแรงอย่างหนึ่ง มีทั้ง 1.การข่มเหงรังแกทางกาย พบเห็นได้บ่อยในทุกโรงเรียน เช่น การผลัก ต่อย หยิก ดึงผม ใช้อุปกรณ์แทนอาวุธในการข่มขู่ 2.การข่มเหงรังแกทางอารมณ์ เช่น การล้อเลียนหรือทำให้รู้สึกอับอาย การกีดกันออกจากกลุ่ม การเพิกเฉย ทำเหมือนไม่มีตัวตน 3.การข่มเหงรังแกทางคำพูด เช่น การใช้คำหยาบคายหรือดูถูก เหยียดหยาม 4.การข่มเหงรังแกทางอินเตอร์เน็ต เช่น ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ กล่าวหาหรือใส่ความให้ได้รับความอับอาย เป็นต้น

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ผลกระทบของการข่มเหงรังแกกันในโรงเรียน จะทำให้เด็กที่ถูกรังแก มีอารมณ์ซึมเศร้าหรือวิตกกังวล เพิ่มความรู้สึกโดดเดี่ยว การกินการนอนผิดปกติ ไม่มีความสุขในการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบได้ ซึ่งปัญหานี้อาจยังคงอยู่จนถึงวัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้ อาจมีอาการทางกาย เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ รวมถึง มีผลการเรียนลดลง หรือต้องออกจากโรงเรียน ตลอดจน มีความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นผู้รังแกคนอื่นในอนาคต ขณะที่ เด็กที่ชอบรังแกผู้อื่นจะมีความเสี่ยงใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติดเมื่อเป็นวัยรุ่น รวมทั้ง ชอบทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สิน และอาจต้องออกจากโรงเรียน เสี่ยงทำผิดกฎหมาย ตลอดจนมีความเสี่ยงที่จะทำร้ายคู่สมรสและบุตรเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้

ด้าน พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้แนะนำให้ ผู้ปกครอง และครู สอนเด็กให้สามารถดูแลป้องกันตัวเองจากการถูกกลั่นแกล้งได้ เช่น บอกครูประจำชั้น ไม่อยู่คนเดียว ไม่ตอบสนองอีกฝ่ายที่จะทำให้เกิดการกลั่นแกล้งเพิ่มมากขึ้น หรือกำหนดให้ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเวลา เนื่องจากในโลกโซเชียลมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา อาจมีคลิปที่เด็กสามารถเลียนแบบได้ โดยไม่รู้ว่าเป็นสิ่งดีหรือไม่ดี โรงเรียนต้องมีระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างเข้มแข็ง มีการพูดคุย ห้ามปราม ตลอดจนปกป้องเด็ก

""ปัญหาเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งน่าจะมีมาก่อนโดยที่ครูไม่ทราบ เด็กที่รังแก อาจมีปัญหาสุขภาพจิต เช่น เกเร ดื้อ ต่อต้าน มีพฤติกรรมจุดไฟ การเลี้ยงดูปล่อยปละละเลย เสพสื่อรุนแรง อยากรู้อยากลอง ครู และพ่อแม่ผู้ปกครอง ควรมีการอบรมสั่งสอนเด็กให้รู้ว่า อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ สิ่งไหนที่ห้ามทำ สังคมไม่ยอมรับ มีการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้พวกเขาตั้งแต่วัยเด็ก โดยเฉพาะก่อนอายุ 10 ปี ซึ่งจะช่วยให้พวกเขามีความยับยั้งชั่งใจ แยกผิดชอบชั่วดีได้ ลดพฤติกรรมการเลียนแบบ ที่อาจทำให้เกิดความชินชากับความรุนแรงได้"" พญ.มธุรดา กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ