รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ประธานในพิธีเปิดงาน กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดของงานสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการยกระดับโอทอปฯ คือ การบูรณาการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการนำ วทน. ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ การพัฒนาและออกแบบบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาและออกแบบกระบวนการผลิต การพัฒนาการรับรองมาตรฐาน การพัฒนาและออกแบบเครื่องจักร ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบต้นน้ำ ไปพัฒนาผู้ประกอบการให้ได้รับประโยชน์สูงสุด อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดอย่างยั่งยืนต่อไป
นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า กิจกรรมภายใต้การจัดงานสร้างความรู้ความเข้าใจฯ จะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนและผลักดัน วทน. สู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดการรับทราบปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการจังหวัดพัทลุงอย่างแท้จริง ทำให้ผู้ประกอบการมีช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น อันเป็นแนวทางในการพัฒนาจังหวัดอย่างยั่งยืน
ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยความพร้อมของเทคโนโลยีที่สามารถรองรับผู้ประกอบการโอทอปทั้งด้านอาหาร เครื่องดื่ม สมุนไพร การเกษตร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ตลอดจน สินค้าของตกแต่งและของที่ระลึก ในปี 2561 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หน่วยงานในสังกัด และหน่วยงานเครือข่าย มีความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีไปเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ ตามนโยบายประชารัฐของรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การสร้างระบบเศรษฐกิจฐานราก เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้แก่จังหวัดอย่างยั่งยืนต่อไป
งานสร้างความรู้ความเข้าใจฯ ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้ประกอบการโอทอป ได้แก่ การเสวนา เรื่อง ""ยกระดับโอทอปด้วย วทน. ได้อย่างไร"" กิจกรรม STI for OTOP Upgrade Matching เพื่อให้คำปรึกษาเชิงลึก แก้ไขปัญหาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการโอทอป และมีการรับสมัครผู้ประกอบการตามแนวทางคูปองวิทย์เพื่อโอทอป นอกจากนั้นยังมีการจัดแสดงนิทรรศการโชว์ผลงานผลิตภัณฑ์ผู้ประกอบการโอทอปในจังหวัดพัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียง หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน บริษัทประชารัฐรักสามัคคีพัทลุง รวมทั้งสถาบันการเงินด้วย ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก เพื่อรับฟังแนวทางการยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วย วทน. พร้อมทั้งเข้ารับคำแนะนำแนวทางการต่อยอดธุรกิจเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ เครื่องจักรสำหรับการผลิต การปรับปรุงกระบวนการผลิต การยกระดับมาตรฐาน การพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดต่อไป