ด้าน ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สะท้อนถึงความสำคัญของการศึกษาทั้งในโรงเรียนและในสังคม โดยระบบที่เอื้อต่อผู้พิการจะต้องรวมถึงการประเมิน การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน การเอื้อให้เข้าถึงโอกาสและสิทธิในทุกระดับชั้นการศึกษา อีกทั้งยังต้องมีกลไกของการเรียนรู้ตลอดชีวิตเช่นเดียวกับผู้เรียนรู้กลุ่มทั่วไปอื่นๆในสังคม
ขณะที่ นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดของกระบวนการดูแลเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา คือ ต้องพบให้เร็ว เพื่อให้การช่วยเหลือได้ทัน ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้นได้ จึงต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ เข้าใจกระบวนการพัฒนาการของเขา อาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกัน ทั้งพ่อแม่ แพทย์ และครูผู้สอน ""เด็กเหล่านี้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมได้ เติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพที่ดีได้ หากได้รับการดูแลช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มต้นที่สำคัญที่สุด อยากให้สังคมยอมรับว่า พวกเขามีคุณค่าและศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับทุกคน ซึ่งจะทำให้พวกเขามีความภาคภูมิใจที่จะอยู่ในสังคมได้""
ทั่วโลก มีผู้พิการทางสติปัญญา 76 ล้านคน ประเทศไทย มีจำนวน 650,000 คน ช่วงอายุ 5-19 ปี ประมาณ 123,300 คน เข้าถึงบริการทางสุขภาพ ร้อยละ 5.59การประชุมครั้งนี้ ประเทศไทย โดยกรมสุขภาพจิต ได้รับเกียรติจากThe International Association for the Scientific Study of Intellectual and DevelopmentalDisabilities (IASSIDD) ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนการศึกษาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับผู้พิการทางสติปัญญา ให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการนานาชาติในระดับเอเชียแปซิฟิค เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ประสบการณ์ แนวทางในการดูแลช่วยเหลือเด็กบกพร่องทางสติปัญญาจากผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์ดร.ฟิลลิป เดวิดสัน มหาวิทยาลัยแพทย์และทันตกรรม แห่งเมืองโรเชสเตอร์ (University of Rochester School of Medicine and Dentistry) ประธาน IASSIDD ได้ระบุว่า การประชุมวิชาการนานาชาติ 2017 IASSIDD 4th Asia Pacific Regional Congress ในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกภูมิภาคของโลก รวมทั้งสิ้นกว่า600 คน จากประมาณ 29 ประเทศมีผลงานวิจัยที่เป็นต้นแบบนวัตกรรมซึ่งจะมีผลต่อการผลักดันคุณภาพชีวิตผู้พิการทางสติปัญญามากกว่า 100 เรื่อง เช่น ผลงานวิจัยที่สะท้อนลักษณะสำคัญของธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสังคม (Social enterprise) ซึ่งต้องไม่เน้นเพียงเรื่องของการจ่ายค่าจ้าง แต่ยังต้องเป็นงานที่มีความหมายในการให้โอกาสแก่ผู้พิการได้เรียนรู้ทักษะด้านอาชีพและทักษะที่สังคมยอมรับหรือเห็นคุณค่า รวมถึงยังช่วยพัฒนาสัมพันธภาพทางสังคมของผู้พิการทางสติปัญญาด้วย
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่บ่งบอกว่าพี่น้องของผู้พิการทางสติปัญญาเป็นอีกส่วนในครอบครัวที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดปัญหาความเครียด และปัญหาคุณภาพชีวิต รวมทั้งเกิดความห่างเหินจากพ่อแม่ สังคมจึงต้องให้ความสำคัญต่อการเกื้อหนุนผู้พิการทางสติปัญญาในรูปแบบที่มองครอบครัวเป็นศูนย์กลางอย่างเป็นองค์รวม(Holistis family-centric support) เป็นต้น การจัดประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-16พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ สามารถติดตามข้อมูลได้ทางwww.rajanukul.go.th และwww.iassidd.org