เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว: ปัญหาความรุนแรงต่อเพศหญิง ที่สั่นสะเทือนทุกมิติในระดับโลกแบบที่คาดไม่ถึง

จันทร์ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๐๑๗ ๐๙:๑๘
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเผย ทัศนคติแบบ ""ชายเป็นใหญ่"" ที่มีปัจจัยกระตุ้นด้วยเครื่องดื่มมึนเมาและสารเสพติด เปลี่ยน ""บ้าน"" ให้เป็น ""เวทีมวย""มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย ปล่อยภาพยนตร์โฆษณารณรงค์ ""บ้าน… ไม่ใช่เวทีมวย"" ปลุกกระแส ""#ผู้ชายไม่ทำร้ายผู้หญิง"" ในโอกาส 25พฤศจิกายน วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล 36 ปีที่ทั่วโลกเริ่มรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีอย่างจริงจังนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ณ เวลานี้เราเดินทางมาถึงจุดไหนแล้ว? ข่าวดีคือ จำนวนประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พุ่งสูงขึ้น จากเดิมมีเพียง 7 ประเทศจากทั้งหมด 173 ประเทศทั่วโลก เพิ่มเป็น 127 ประเทศภายในระยะเวลา 25 ปี[1] แต่อย่างไรก็ตาม""กฎหมายคุ้มครอง"" ไม่ใช่สิ่งที่สามารถขจัดความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อผู้หญิงได้ทั้งหมด บทความนี้จะตีแผ่แรงสั่นสะเทือนของปัญหาความรุนแรงต่อเพศหญิงที่ส่งผลกระทบต่อทุกมิติในระดับโลกแบบที่คาดไม่ถึง (และแน่นอนมันส่งผลกระทบถึง…คุณผู้อ่าน…ด้วยเช่นกัน) ซึ่งเราทุกคนในฐานะ ""มนุษย์"" จะต้องร่วมยุติความรุนแรงนี้ไปด้วยกัน

คำถามคือเราจะช่วยกันยุติได้อย่างไร?

ก่อนที่จะตอบคำถามด้านบน ขอเล่าความจริงบางอย่างให้อ่านกัน… ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเพศหญิงไม่ได้แค่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้หญิงที่โดนทำร้ายเท่านั้น แต่ความเจ็บปวดนี้ยังส่งผลกระทบไปยังคนทุกเพศ ทุกวัยในสังคม กระเทือนถึงรากลึกทัศนคติแห่งการใช้ชีวิตของผู้คนในเรื่องสิทธิความเท่าเทียม ไปจนถึงสั่นคลอนเศรษฐกิจระดับชาติ เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งถูกทำร้ายไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม สร้างบาดแผลแก่ร่างกายและจิตใจของพวกเธอจนกระทั่งทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานลดลงจึงทำให้มีรายได้ลดน้อยลงไปด้วย โดยมีข้อมูลว่าผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงจากคู่ครองจะมีรายได้จากงานประจำน้อยกว่าผู้หญิงที่ไม่ถูกกระทำความรุนแรงถึง 60%[2] ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ผู้หญิงเหล่านี้มีสถานะในสังคมต่ำลงไปโดยปริยาย พวกเธอจึงไม่สามารถออกมาทำกิจกรรมร่วมกับสังคมหรือชุมชนภายนอกได้อย่างเต็มที่เท่าที่ควร อย่างร้ายแรงที่สุดอาจนำไปสู่การเกิดเหตุฆาตกรรมหรือการฆ่าตัวตาย

บาดแผลนี้จึงถูกส่งต่อไปยังคนในครอบครัว โดยเฉพาะลูกของพวกเธอจะซึมซับความรุนแรงไปโดยไม่รู้ตัว เด็กที่เติบโตขึ้นในครอบครัวที่มีความรุนแรงอาจจะมีความบกพร่องทางอารมณ์และพฤติกรรม ส่งผลให้มีโอกาสเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดด้านความรุนแรงต่อไปได้ในอนาคต และมีโอกาสเกิดอัตราการเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยสูงขึ้นจากโรคอุจจาระร่วงหรือการขาดสารอาหารในทารกและเด็ก เนื่องจากผู้เป็นแม่ที่โดนทำร้ายจนสภาพจิตใจและร่างกายไม่พร้อมดูแลลูกได้เต็มร้อย

ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงลุกลามก่อให้เกิดปัญหาระดับชาติ อันเนื่องด้วยภาระค่าใช้จ่ายมากมายมหาศาลในการเยียวยาผู้ถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็น ค่าใช้จ่ายทางตรง อย่าง ระบบสาธารณสุข สวัสดิการสังคม กระบวนการยุติธรรม บริการที่ปรึกษาและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ปัญหาตามมาที่ใหญ่หลวงคือการสูญเสียแรงงานที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ การที่ผู้หญิงไม่มีโอกาสในการศึกษา การจ้างงาน และการใช้ชีวิตนั้น บ่อนทำลายเป้าหมายของบางประเทศในการลดระดับความยากจน โดยผลสำรวจชี้ว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงทั่วโลกคิดเป็นประมาณ 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของทั้งโลกหรือประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเทียบได้กับขนาดเศรษฐกิจของประเทศแคนาดาทั้งประเทศ[3] หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าการเกิดสงครามกลางเมืองเลยทีเดียว และนี่คือสิ่งที่สังคมต้องจ่ายให้กับผลกระทบของปัญหาเหล่านี้

ผลกระทบที่ขยายผลจากปัญหาที่มีจุดเริ่มต้นในครอบครัว เป็นเหตุผลว่าทำไมองค์กรทั่วโลกต่างต้องรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยเป้าหมายสูงสุดของการรณรงค์ คือ การขุดรากถอนโคนระดับจิตสำนึกในการปฏิรูปความคิดและทัศนคติของผู้คนที่มีต่อประเด็นปัญหาเรื่องนี้ ว่าปัญหาเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงไม่ใช่เรื่องปกติไม่ใช่ปัญหาภายในครอบครัว ไม่ใช่ความผิดของผู้หญิง แต่มันคือปัญหาสังคม

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วจะพบคำตอบของคำถามด้านบนที่ว่า เราจะช่วยกันยุติปัญหานี้ได้อย่างไร?

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้เก็บข้อมูลสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในรอบปี 2559 โดยการรวบรวมข่าวความรุนแรงในครอบครัวจากหนังสือพิมพ์ในปี2559 จำนวน 13 ฉบับ ได้แก่ ไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด คมชัดลึก มติชน แนวหน้า ไทยโพสต์ กรุงเทพธุรกิจ บ้านเมือง สยามรัฐ พิมพ์ไทย ผู้จัดการรายวัน โพสต์ทูเดย์ พบข่าวความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 466 ข่าว โดยพบว่าส่วนใหญ่สามีกระทำต่อภรรยา 71.8% นอกจากนี้ยังพบว่าข่าวความรุนแรงทางเพศของคนในครอบครัวมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นมากที่สุด 33.3% รองลงมาคือ ข่าวการฆ่ากัน 21.2% และข่าวทำร้ายกัน 14.8% นอกจากนี้ยังพบมูลเหตุที่ทำให้เกิดกรณีข่าวสามีฆ่าภรรยามาจากการหึงหวง ระแวง ฝ่ายหญิงไม่ยอมคืนดี 78.6% ในการรายงานข้อมูลสถานการณ์นี้ใช้ชื่อ ตอน ความรุนแรง ""ฆ่า"" ครอบครัว เพื่อขุดลึกถึงต้นตอของปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง พบว่า ทัศนคติแบบ ""ชายเป็นใหญ่"" เปลี่ยน ""บ้าน"" ให้เป็น ""เวทีมวย"" ด้วยแรงกระตุ้นจากเครื่องดื่มมึนเมาและสารเสพติด โดยมีมูลเหตุหลักจากความหึงหวง

ทัศนคติแบบ ""ชายเป็นใหญ่"" ทำให้ผู้ชายบางคนมองภรรยาตัวเองเป็นสมบัติในครอบครองที่สามารถใช้อำนาจเหนือและปฏิบัติกับเธออย่างไรก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ทัศนคติแบบ ""ชายเป็นใหญ่"" ไม่ได้จำกัดแค่อยู่ในความคิดของผู้ชายเท่านั้น แต่ก็เป็นทัศนคติที่อยู่ในความคิดของผู้หญิงด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นการนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในที่สุด ความคิดและทัศนคติเหล่านี้ เป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนต้องเปลี่ยนแปลง

นี่จึงเป็นที่มาของแคมเปญรณรงค์ในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลในวันที่ 25 พฤศจิกายน โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย ภายใต้แนวคิด ""บ้าน… ไม่ใช่เวทีมวย"" ต้องการปลุกกระแสสังคม ""#ผู้ชายไม่ทำร้ายผู้หญิง"" จี้จุดกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ชาย ผ่านกีฬามวยไทยซึ่งเป็นกีฬายอดนิยมที่ผู้ชายชื่นชอบ โดยต้องการสื่อสารว่า ผู้ชายต้องล้อมกรอบความรุนแรงด้วยเชือกเส้นหนา 3 เส้น บนสังเวียนมวยที่มีกติกา และอย่านำความรุนแรงกลับไปที่บ้าน ในขณะที่ผู้หญิงเองเมื่อถูกกระทำความรุนแรง จะต้องกล้าที่จะลุกออกมาสื่อสารกับสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญที่สุดคือการปลูกฝังทัศนคติความเท่าเทียมและการเคารพซึ่งกันและกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ให้กับทุกคนในสังคม ตั้งแต่สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา ไปจนถึงทุกภาคส่วน ว่าความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัวและไม่ใช่ปัญหาระดับปัจเจกบุคคล แต่เป็นประเด็นปัญหาระดับมนุษยชาติที่สั่นสะเทือนทุกมิติระดับโลก และทุกคนล้วนมีส่วนในการยุติปัญหาความรุนแรง

คนที่เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ไม่ได้หมายถึงผู้กระทำความรุนแรงเพียงเท่านั้น แต่คนคนนั้นหมายถึงพวกเราทุกคนที่มีทัศนคติและความคิดบางอย่างที่มีส่วนขยายหรือซ้ำเติมต่อปัญหาที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น จะดีกว่าไหมถ้าเราทุกคนร่วมมือกันดูแลและถนอม ""ดอกไม้"" ดอกนั้นเพื่อสร้างความสวยงามให้บานสะพรั่งไปทั่วโลก

ชมภาพยนตร์โฆษณาชุด ""บ้าน… ไม่ใช่เวทีมวย"" ได้ที่ https://goo.gl/iiVRFW หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล แล้วมาร่วมกันชูป้าย ""บ้าน.... ไม่ใช่เวทีมวย ผู้ชายไม่ทำร้ายผู้หญิง"" ที่คุณเขียนขึ้น และโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย พร้อมกับติดแฮชแท็ก #ผู้ชายไม่ทำร้ายผู้หญิง ในวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้อย่างพร้อมเพรียงกัน ""เพราะเราคงไม่อยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับใครอีก""

สายด่วนมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล โทร. 02-513-2889

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ