การประกาศเขตพัฒนาการท่องเที่ยวของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เกิดขึ้นภายใต้ความมุ่งหวังในการสร้างความเป็นเอกภาพในการพัฒนาการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวที่จัดทำขึ้นผ่านการบูรณาการ และ การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องทั้งในระดับภาครัฐ และภาคเอกชนเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวที่สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การพัฒนาของแต่ละจังหวัดหรือพื้นที่ที่อยู่ภายในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวในอนาคตจะต้องมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้มีการจัดสรรงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค (Area Based) ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดกระบวนการวางแผนและพัฒนาพื้นที่ระดับภาคที่มีความสอดคล้องกัน
โดยการประกาศเขตพัฒนาการท่องเที่ยวดังกล่าวจะนำความโดดเด่น และ อัตลักษณ์ของพื้นที่ในแต่ละพื้นที่มาสร้างการรับรู้ในวงกว้างแก่ตลาดนักท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวจดจำภาพลักษณ์ของพื้นที่ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น และพัฒนากลไกการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางการท่องเที่ยว เพื่อให้เขตพัฒนาการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นได้รับการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวอย่างสมดุลและยั่งยืน สามารถกระจายรายได้และนักท่องเที่ยวจากเมืองหลัก สู่เมืองรองต่างๆ
ในขั้นต่อไปกระทรวงท่องเที่ยวฯ และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะร่วมกันดำเนินการทบทวนความเหมาะสมของเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง 6 เขต ใน 4 ภูมิภาค อันประกอบด้วย
ภาคเหนือ 1 แห่ง คือ เขตวิถีชีวิตชุมชน และ อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 แห่ง คือ เขตยุคก่อนประวัติศาสตร์
ภาคกลาง 2 แห่ง ได้แก่ เขตผจญภัยผืนป่าโลกตะวันออก และ เขตวิถีชีวิตคาบสมุทร
ภาคใต้ 2 แห่ง ได้แก่ เขตลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และ เขตพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้
""จากการประกาศเขตพัฒนาการท่องเที่ยวที่ผ่านมาพบว่า เขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง 8 เขตที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้นั้น ประสบความสำเร็จในการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เป็นผลให้ในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้เขตพัฒนาการท่องเที่ยว มีทิศทางในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการประกาศเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอีก 6 เขต ในวันนี้ ตนมั่นใจว่าจะเป็นแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมั่นคง ยั่งยืน และ เป็นการกระจายรายได้จากภาคการท่องเที่ยวลงสู่สังคม ชุมชน อย่างทั่วถึง และ เท่าเทียม"" ปลัดฯพงษ์ภาณุกล่าว