วันนี้ (20 พฤศจิกายน 2560) ณ หอประชุมบุรฉัตร ธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ปี 2560-2561 "ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น" ระหว่างธนาคารออมสิน กับ สถาบันอุดมศึกษา 16 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัย เกษมบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมี นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาทั้ง 16 แห่ง เข้าร่วมในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว พร้อมนี้ผู้อำนวยการธนาคาร ออมสิน ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "มหาวิทยาลัยประชาชน"
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบเศรษฐกิจในระดับชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยเศรษฐกิจหลักของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารฯ ได้จัดกิจกรรมด้านการเสริมสร้างและพัฒนา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยการบูรณาการภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่นเข้ากับวิทยาการสมัยใหม่ของสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและสถาบันอุดมศึกษาในพื้นถิ่น ซึ่งจะเป็นการสร้างกระบวนการในการเสริมสร้างและพัฒนาเพื่อยกระดับ ขีดความสามารถของประชาชน หรือกลุ่มชุมชนที่รวมตัวกันสร้างผลิตภัณฑ์ และบริการให้มีศักยภาพ มีนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มที่ตอบสนองความต้องการของตลาด ด้วยการนำนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษา 16 แห่ง เข้าไปเรียนรู้กับชาวบ้านเพื่อพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และกระทรวงการคลัง ที่มุ่งหวังให้ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงวัย รวมถึงผู้ที่อยู่ในกลุ่มรับสวัสดิการรัฐที่ยังมีความสามารถในการประกอบอาชีพ สามารถเข้าถึงการมีอาชีพ มีรายได้ ซึ่งจะนำไปสู่การเข้าถึงแหล่งทุนในอัตราดอกเบี้ยพิเศษที่ธนาคารออมสินอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ เพื่อเปิดให้บริการต่อไป
"รูปแบบของสินเชื่อจะเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบผ่อนปรน พร้อมกับการจัดฝึกอบรมสร้างอาชีพ รวมถึงการจัดหาอาชีพในรูปแบบแฟรนไชส์ ฟู้ดทรัค และร้านค้าริมทางหรือสตรีทฟู้ดให้กับผู้มีรายได้น้อยผ่านการขอสินเชื่อของธนาคารออมสินในการสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีอาชีพ สร้างรายได้พิเศษ เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วย" ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว
สำหรับโครงการ "ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น" ธนาคารฯ จะร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา 16 แห่ง ลงพื้นที่ศึกษาวิเคราะห์และพัฒนาองค์ความรู้ทางธุรกิจมาประยุกต์ใช้ในการวางแผนและแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย จัดการด้านทรัพยากร รูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ และตราสินค้า พัฒนากระบวนการผลิต ทำแผนการเงิน และจัดทำบัญชี การจัดการราคา และความสามารถในการทำกำไร การจัดการการตลาด และการจัดการช่องทางการ จัดจำหน่าย ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP องค์กรชุมชน/กลุ่มอาชีพในชุมชน ผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการ SME Start Up และอื่น ๆ ซึ่งจะมีการนำความรู้มาบูรณาการกับองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผนวกกับกระบวนการต่าง ๆ ที่ธนาคารออมสินจะดำเนินการสนับสนุนการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้แก่ประชาชนในระดับฐานราก จะเข้ามาสนับสนุนให้กระบวนการสร้างอาชีพตามนโยบายรัฐบาลเกิดขึ้นอย่างชัดเจน เพราะประชาชนจะได้พัฒนาอาชีพควบคู่ไปกับการเรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งจะส่งผลให้การค้าขายในอาชีพของตนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจากการพัฒนาอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ธนาคารออมสิน ในภารกิจการธนาคารเพื่อสังคม จึงได้ริเริ่มขับเคลื่อนโครงการ "มหาวิทยาลัยประชาชน" ในการสร้างโอกาส เพิ่มพูนความรู้ และทักษะที่จำเป็นด้านอาชีพ เพิ่มรายได้ และความรอบรู้ในการดำรงชีวิต ด้วยองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัย โดยที่กระบวนการแหล่งทุนจากธนาคารออมสิน จะช่วยเติมเต็มให้การประกอบอาชีพเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ด้วยวินัยทางการเงินที่มีศักยภาพ ซึ่งจะทำให้การดำรงชีพของประชาชนได้รับการยกระดับอย่างชัดเจนด้วยกลไกนี้ที่มุ่งสู่ความยั่งยืนทางสังคมของคนไทยตลอดไป" นายชาติชาย กล่าว
นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังมีโครงการที่สนับสนุนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้สร้างแนวคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ผ่านโครงการประกวด GSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริงเพื่อเตรียมความพร้อมการเป็นผู้ประกอบการในอนาคต ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาอาชีพให้ทันยุคทันสมัยอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย