นายสาห์รัช ชัฎสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด (Mr. Saharat Chudsuwan, Head of Marketing and Wealth Advisory, Mutual & Private Fund Business, TISCO Asset Management Co., Ltd.) กล่าวว่า เศรษฐกิจและภาคการเงินของสหรัฐฯ มีสเถียรภาพขึ้นมาก นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินสหรัฐฯ หรือHamburger Crisis โดยภาคการเงินแข็งแกร่งขึ้นหลังรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกกฎหมายเข้มงวดภาคการเงินทำให้ธนาคารต้องระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ และต้องดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำต่อสินทรัพย์เสี่ยงในระดับที่สูงขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันสัดส่วนการดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำในธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานของทางการ สอดคล้องกับการปรับเพิ่มอันดับเครดิต Rating ของสถาบันชั้นนำ นอกจากนี้ ยังมีการป้องกันการเกิดวิกฤติในอนาคตผ่านการประเมินความแข็งแกร่งของภาคธนาคาร หรือ เรียกว่าการทดสอบ Stress Test เพื่อประเมินความสามารถในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้กรณีที่เกิดวิกฤติในอนาคต
ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง เห็นได้จากตัวเลข GDP สหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ในเดือน ธ.ค.ปี 2559 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรก สำหรับมุมมองระยะข้างหน้า บลจ.ทิสโก้มองว่า กลุ่มสถาบันการเงินสหรัฐฯ จะเติบโตได้อย่างโดดเด่นและน่าลงทุน โดยมีปัจจัยสนับสนุนการลงทุน 2 ประการคือ 1. แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed จะเป็นปัจจัยหนุนต่อรายได้ดอกเบี้ยในภาคธนาคาร โดยประเมินว่าปี 2561 Fed จะขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 3 ครั้ง และมีแนวโน้มปรับขึ้นได้อีกในปี 2562 โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่าทุกๆ 1% ของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับเพิ่มขึ้น จะหนุนผลดำเนินกลุ่มการเงินประมาณ 2.4%
และประการที่ 2. รัฐบาลภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ต้องการผลักดันแก้ไขกฎหมาย Dodd Frank ที่จะผ่อนคลายกฎระเบียบภาคธนาคารลง สอดคล้องกับนโยบายของนาย Jerome Powell ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธาน Fed คนต่อไปและมีแนวคิดที่อยากจะลดความซับซ้อนของกฎระเบียบในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ประเมินว่าหากการผ่อนคลายกฎหมายเกิดขึ้นจริงย่อมส่งผลดีต่อกลุ่มธนาคารในสหรัฐฯ เนื่องจากโครงสร้างรายได้ของภาคธนาคารโดยส่วนใหญ่จะได้รับประโยชน์จากการปรับกฎหมายในครั้งนี้ แต่การปรับลดกฎระเบียบดังกล่าวเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนบางส่วนเท่านั้น ไม่ได้นำไปสู่การผ่อนคลายมากเกินไปเมื่อเทียบกับเกณฑ์ในอดีต เนื่องจาก มุมมองของนาย Jerome Powell เนื้อหาส่วนใหญ่ใน Dedd Frank ยังมีความจำเป็นต่อการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน
อย่างไรก็ตาม เรายังได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเคลื่อนไหวของหุ้นกลุ่มการเงินและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ซึ่งเป็นตัวที่สะท้อนมุมมองของทิศทางอัตราดอกเบี้ยในอนาคต พบว่า การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นกลุ่มการเงินมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี เมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มอื่นๆ ซึ่งหมายความว่า หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น ราคาหุ้นกลุ่มการเงินน่าจะมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะจะมีผลการดำเนินงานดีขึ้นตามส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin) ที่มักจะปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย
"ทิศทางผลดำเนินงานกลุ่มการเงิน คาดว่าจะปรับขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สนับสนุนการขยายตัวของสินเชื่อ และยังมีปัจจัยหนุนจากการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าแนวโน้มผลประกอบการกลุ่มการเงินจะขยายตัวได้ 9 % ในปี 2560 และขยายตัว 15% ในปี 2561 ถือว่าเพิ่มขึ้นมากกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 11% สำหรับราคากลุ่มการเงินของสหรัฐฯ ยังคงปรับขึ้นน้อยกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ (Laggard) หากมองย้อนกลับไปในช่วง 10 ปีก่อน (ต.ค. 2550 - ต.ค. 2560) พบว่า ดัชนี S&P500 ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 62% ในขณะที่หุ้นกลุ่มการเงินสหรัฐฯ ติดลบ 11% และเมื่อเทียบในแง่ของมูลค่าตลาด (Valuation) โดยใช้ P/E Ratio พบว่าหุ้นกลุ่มการเงินเทรดที่ P/E 12 เดือนข้างหน้า (Forwarded P/E) ที่ 14.2 เท่า ถือว่าต่ำกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ และยังต่ำกว่าดัชนี S&P500 ที่เทรดด้วยระดับ P/E ที่ 18 เท่า" นายสาห์รัช กล่าว
ดังนั้น การลงทุนในหุ้นกลุ่มการเงินในสหรัฐฯ ในช่วงนี้จึงถือเป็นการลงทุนที่น่าสนใจ เพราะได้รับปัจจัยบวกจากสภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และแนวโน้มของดอกเบี้ยที่กลับมาเป็นช่วงขาขึ้น อีกทั้งเป็นไปในทิศทางเดียวกับมุมมองของทิสโก้ที่แนะนำให้นักลงทุนใช้กลยุทธ์การเลือกลงทุนเป็นรายอุตสาหกรรมในช่วงที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นมาค่อนข้างสูง