ผู้ว่าการ กยท.เผยว่า การเดินทางไปเมืองโบเอา มณฑลไห่หนาน ประเทศจีน ครั้งนี้ นอกจากเพื่อไปร่วมประชุมใหญ่ของกลุ่มผู้ผลิตและผู้ใช้ยางพาราระหว่างประเทศ ร่วมกับประเทศสมาชิกจัดตั้งกว่า 15 องค์กร เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางที่ผันผวน โดยการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ประเภทต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดการกระตุ้นการใช้ยางมากขึ้น ยังได้มีโอกาสเข้าร่วมเจรจาทางการค้ากับบริษัท Hainan Rubber Industrial Group โดยตรง ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดยรัฐบาลจีน โดยการเจรจาในครั้งนี้ เป็นการทำสัญญาแบบ Business to Business ระหว่าง 2 องค์กร เพื่อวางเป้าในการซื้อขายยางคละแบบ ทั้งยางก้อนถ้วย ยางแผ่นรมควัน และยางแท่ง ซึ่งจะเป็นช่องทางการตลาดที่มาสนับสนุนการพัฒนาตลาดยางของ กยท. ที่กำลังเร่งพัฒนาเพื่อรองรับผลผลิตของเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นตลาดกลางยางพาราทั้ง 6 แห่ง ตลาดยางพาราระดับท้องถิ่น 108 ตลาด ตลาดกลางน้ำยางสด รวมไปถึงตลาดยางก้อนถ้วยทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก ที่กำลังจะเป็นเพิ่มเติม
"กยท.จะเป็นตัวกลางในการจัดหาและรวบรวมผลผลิต พร้อมเปิดรับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่มีความพร้อม และสนใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งการขอทำสัญญาซื้อยางในล๊อตแรกคาดว่า เราพร้อมส่งมอบในเดือนธันวาคม นอกจากนั้นแล้ว ทางฝ่ายผู้ซื้อจากประเทศจีน ยังแสดงความสนใจที่จะให้ กยท. รวบรวมยางคละแบบ ทั้งยางก้อนถ้วย ยางแผ่น ยางแท่ง โดยวางเป้าหมายไว้ ปีละกว่า 200,000 ตัน ซึ่งภายหลังการส่งมอบยางในชุดแรกแล้ว คงจะเจรจาในรายละเอียดวิธีการทำงานร่วมกันให้ชัดเจน"
ดร.ธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า มณฑลไห่หนาน ทำธุรกิจเกี่ยวกับยางพารามาแล้วกว่า 50 ปี เป็นพื้นที่ปลูกยางมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศจีน โดยมีรัฐบาลจีนให้การสนับสนุน ปัจจุบันเฉพาะมณฑลนี้มีพื้นที่ปลูกยางกว่า 3 ล้านไร่ แต่เมื่อพบว่าการทำเกษตรแบบพืชเชิงเดี่ยวทำให้เผชิญปัญหาเรื่องราคาสินค้าเกษตรในระยะยาว รัฐบาลจีนจึงสนับสนุนให้ผู้ปลูกยางในไห่หนาน หันมาปลูกพืชแบบผสมผสาน โดยปัจจุบันมีรายได้จากสินค้าเกษตรกว่า 8 ชนิด เช่น ส้ม ใบชา กาแฟ และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ แต่ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ และสภาพอากาศที่อาจไม่เอื้ออำนวยกับการปลูกยางนักเมื่อเทียบกับประเทศแถบร้อน ทำให้ได้ผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ อีกทั้งยังเผชิญกับพายุพัดถล่มบ่อยครั้ง จึงจำเป็นต้องมีการนำเข้ายางจากประเทศอื่นโดยเฉพาะประเทศไทย
"มลฑลไห่หนาน อยู่ในฐานะที่เป็นทั้งผู้ปลูกและผู้ใช้ยางพารา จึงมีความเข้าใจในสถานการณ์ความผันผวนของยางพาราเป็นอย่างดี และมีความต้องการที่จะให้ราคาเป็นไปในทิศทางที่สูงขึ้น จึงนำมาสู่การร่วมมือทางการค้ากับประเทศไทย ซึ่งประโยชน์ส่งต่อถึงมือชาวสวนยางไทยอย่างแน่นอน"