รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า "มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการ และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในสาขาวิชาการเป็นผู้ประกอบการ ทั้งนี้จากการที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) หรือ MIT ประเทศสหรัฐอเมริกา ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจึงได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการปรับแนวทางการเรียนการสอนจาก Lecture Based เป็น Projected Based ที่มุ่งเน้นทำจริงตามหลักการและกระบวนการเรียนรู้แบบ MIT มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจึงได้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม หรือ IDE 101 ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย"
วิชาการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม หรือ IDE 101 เป็นวิชาที่นำแนวคิดกระบวนการ 24 Steps Disciplined Entrepreneurship จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) หรือ MIT ประเทศสหรัฐอเมริกา เข้ามาเป็นวิชาสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชั้นปีที่ 1 ทุกคน โดยมุ่งเน้นการเรียนการสอนในภาคปฏิบัติ (Projected Based Learning) เพื่อให้นักศึกษาได้มีการลงมือทำจริง ซึ่งนักศึกษาจะต้องคิดหาไอเดียทางธุรกิจจากการค้นหาปัญหาจากพื้นที่ในเขตห้วยขวางและดินแดง ประกอบกับต้องคิดหาแนวทางการแก้ไขปัญหาหรือเข้าใจถึงผู้ที่ได้รับปัญหาซึ่งจะเป็นลูกค้าของธุรกิจในอนาคต ตั้งแต่ การทำการสอบถามลูกค้า และสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อทอดสอบจริง และจะต้องนำเสนอเพื่อแข่งขันกัน โดยคาดหวังว่าจะพัฒนาไอเดียทางธุรกิจร่วมกับชุมชนห้วยขวางและดินแดง
"กลุ่มเป้าหมายหลักของวิชาการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม หรือ IDE 101 คือนักศึกษาทุกคนและทุกคณะในมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้บรรจุวิชาการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม หรือ IDE 101 ให้เป็นรายวิชา General Education ที่นักศึกษาทุกคนจะต้องลงทะเบียนเรียน เพื่อสร้างแนวคิด (Mindset) ทางการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าใจถึงกระบวนการ และจิตวิญญาณของการประกอบการ เพราะมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเชื่อว่าการประกอบการไม่ใช่องค์ความรู้ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติ ซึ่งนักศึกษาสามารถนำแนวคิดดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับรายวิชาอื่น ๆ ได้ต่อไป และสำหรับในภาคการศึกษาที่ 1 นี้มีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เข้าเรียนในวิชาการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม หรือ IDE 101 แล้วรวมกว่า 25 กลุ่ม หรือประมาณ 1,500 คน โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยตั้งเป้าจะให้ความรู้แก่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยปีละ 5,000 คน" รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวเสริม
ทางด้าน อาจารย์ ดร.ศักดิพล เจือศรีกุล ผู้อำนวยการ ศูนย์สร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (IDE Center by UTCC) เปิดเผยว่า "การเรียนการสอนในวิชาการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม หรือ IDE 101 เริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย โดยการเรียนรู้ เข้าใจ จากการปฏิบัติจริงและไม่มุ่งเน้นให้ท่องจำไปสอบ หาแต่เข้าใจกระบวนการ และสร้างมายเซ็ตทางการประกอบการซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาทุกคนสามารถนำไปใช้ได้เมื่อจบออกไป ไม่ว่าจะสร้างองค์กรธุรกิจของตนเอง หรืออยู่ในองค์กรธุรกิจที่ตั้งอยู่ ทั้งนี้การเรียนการสอนได้มีการวางแผนการสอน การอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) รวมไปถึงการสอดแทรกแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มีการประชุมร่วมกันของทีมสอนที่ได้รับผ่านการอบรมจาก MIT ซึ่งเป็นทีมผู้สอนที่ไม่ใช่เฉพาะอาจารย์ภายในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังเป็นกลุ่มผู้ประกอบการสมัยใหม่จากหลากหลายธุรกิจ ไปจนถึงนักวิจัยที่สามารถถ่ายทอดประสบการณ์จริง และในอนาคตมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีแผนที่จะร่วมมือกับองค์กรทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐบาลและภาคธุรกิจ ซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้เริ่มลงมือใน Step 0 ในการเรียนการสอนแบบใหม่นี้"
การเรียนการสอนในวิชาการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม หรือ IDE 101 จะมีการเรียนการสอนทั้งส่วนของขั้นตอนที่ 0 หรือ Step Zero โดยเริ่มตั้งแต่การสำรวจค้นหา (Exploration) และการทดลอง (Experiment) และการลงมือทำ (Execute) ซึ่งในขั้นตอนนี้จะมุ่งเน้นให้นักศึกษาได้ลงพื้นที่จริง ๆ เพื่อที่จะเข้าไปข้อมูลปัญหา พูดคุยกับคนในชุมชน เพื่อที่จะสามารถค้นหาโอกาสในการประกอบการ จากนั้นจึงมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในห้องเรียน โดยการเรียนการสอนจะเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ที่จะต้องทำจริง เน้นกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวของนักศึกษา โดยทางคณาจารย์ผู้สอนจะเป็นผู้ผลักดันและสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ ซึ่งเมื่อผ่านขั้นตอนที่ 0 แล้วจึงจะเรียนรู้แนวทางการสร้างธุรกิจใน 24 ขั้นตอนของการสร้างธุรกิจ (Disciplined Entrepreneurship) ซึ่งจะครอบคลุม 6 ด้านของการทำธุรกิจ อันประกอบไปด้วย ลูกค้าของธุรกิจคือใคร สินค้าและบริการสามารถทำอะไรให้ลูกค้าได้บ้าง ลูกค้าครอบครองสินค้าและบริการของธุรกิจได้อย่างไร ธุรกิจจะสามารถทำเงินจากสินค้าและบริการได้อย่างไร ธุรกิจจะออกแบบและสร้างสินค้าและบริการได้อย่างไร แผนการขยายธุรกิจเป็นอย่างไร
"การสร้างนวัตกรรมเป็นสิ่งที่ปลูกฝังได้ทุกคนหากมุ่งมั่นก็จะสามารถตั้งต้นและริเริ่มคิดค้นนวัตกรรมได้ และผู้ประกอบการในยุค 4.0 จะต้องสามารถที่จะเข้าใจและเปิดรับเทคโนโลยีและนวัตกรรม และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงและสร้างสิ่งใหม่โดยใช้นวัตกรรม ดังนั้นการสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมจะต้องเริ่มต้นจากการปลูกฝังเยาวชนรุ่นใหม่เพื่อสร้างอนาคตของประเทศไทย และแนวโน้มในการสร้างธุรกิจและสตาร์ทอัพในอนาคตจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วนไม่เพียงแต่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แต่จะต้องร่วมกันผลักดันจากทุกมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันปลูกฝังเยาวชนรุ่นใหม่เพื่อมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป" รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวทิ้งท้าย